บางจาก-ธนโชค เตรียมร่วมทุนตั้ง BSGF ผลิตน้ำมันเครื่องบินจากน้ำมันไบโอฯใช้แล้วล้านลิตร

ปาล์ม

บางจากเตรียมลงนามร่วมทุน ธนโชค ออย ไลท์ 31 ส.ค. 65 ตั้งบริษัท BSGF ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันพืชใช้แล้ว SAF 1 ล้านลิตร

วันที่ 29 สิงหาคม 2565 รายงานข่าวกล่าวว่า ในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 จะมีพิธีลงนามร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท BSGF ระหว่างนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ และนายธนวัฒน์ ลินจงสุบงกช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนโชค ออย ไลท์ จำกัด เพื่อเตรียมผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) จากน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นรายแรกในประเทศไทย

รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเบื้องต้น มีแผนเริ่มผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนด้วยกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 1,000,000 ลิตรต่อวัน

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว เกิดขึ้นนับจากวันที่ 28 เมษายน 2565 หรือเมื่อ 4 เดือนก่อนหน้านี้ ที่นายชัยวัฒน์และนายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดหาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ สร้างหน่วยผลิตและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพแบบยั่งยืน ร่วมกับนายธนวัฒน์

โดยบริษัท ธนโชค ออย ไลท์ จำกัด เป็นผู้ทำธุรกิจน้ำมันพืชปาล์มครบวงจร จ.สมุทรสาคร ผลิตน้ำมันพืชปาล์มแบรนด์ริชชี่ และไบโอดีเซล ถือเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วชั้นแนวหน้าของประเทศมากว่า 40 ปี

การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ครั้งนี้นับเป็นทางเลือกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์นั้นมีอัตราการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 80% จากการที่ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำมันพืชสูงประมาณ 900,000 ตันต่อปี ซึ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นโอกาสที่ดีในการนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยคาดว่าบริษัทใหม่จะต้องใช้วัตถุดิบราว 5 แสนลิตร

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายบางจากที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions ในปี ค.ศ. 2050 และยังสอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ “BCG” หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างครบวงจร