เร่งพร่องน้ำเขื่อนเจ้าพระยา รองรับ “น้ำเหนือ” ป้องกรุงเทพฯ พายุจ่อเข้า 1-2 ลูก

เขื่อนเจ้าพระยา
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 21 กันยายน 2565 เวลา 20.02 น.

ฤดูฝนปีนี้ผ่านมาได้ครึ่งทางแล้ว โดยประเทศไทยได้เผชิญกับสภาพฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น ร่องมรสุมที่เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ตลอดจนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนล่าง ทำให้สถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะส่งผลไปถึงฤดูแล้งหน้านั้น มีปริมาณน้ำ “ดีเป็นพิเศษ” ในรอบหลายปีที่ผ่านมา

โดยเขื่อนหลักสำคัญ 4 แห่งที่จะส่งต่อปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ ล่าสุด ณ วันที่ 20 กันยายน 2565 มีปริมาตรน้ำในอ่างรวมกันถึง 15,136 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่าง นับเป็นปริมาตรน้ำในอ่างที่เกิน “ครึ่งหนึ่ง” ของความจุอ่างเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฤดูฝนในปีนี้ยังเหลือระยะเวลาที่ฝนจะตกอีก 1-2 เดือน แต่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งมีสภาพใกล้ที่จะล้นเกิน ประกอบกับจังหวัดริมน้ำสายหลักหลายจังหวัดโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจากทั้งการระบายของเขื่อนและฝนที่ตกหนักในพื้นที่ได้

โดยสถานการณ์น้ำล่าสุดพบว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,012 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นผลมาจากฝนที่ตกหนักในลุ่มน้ำยมและน่าน มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ สถานีชุมแสง วัดได้ถึง 1,118 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้ยังมีน้ำไหลลงอ่างเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ รวมกันถึง 10-122 ล้าน ลบ.ม./วันด้วย

ด้วยสถานการณ์น้ำดังกล่าว ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านใต้เขื่อนเจ้าพระยามาถึงจังหวัดสิงห์บุรี-พระนครศรีอยุธยา อยู่ในระดับ 1,900-2,000 ลบ.ม./วินาที แต่มีการระบายน้ำออกไปทางด้านทิศตะวันตกที่ ต.โผงเผง และ ต.บางบาล ผ่านทางแม่น้ำน้อย เพื่อตัดยอดน้ำ แต่ปริมาณน้ำจำนวนดังกล่าวได้ไหลกลับเข้ามาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา บวกกับน้ำที่ระบายออกมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C29A ที่บางไทร ซึ่งถือเป็นด่านหน้าของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สูงถึงระดับ 2,570 ลบ.ม./วินาทีแล้ว

ส่งผลให้พื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงจังหวัดสิงห์บุรี-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี-นนทบุรี และกรุงเทพฯ ที่อยู่นอกแนวคันกันน้ำประสบภาวะ “น้ำท่วม” จากน้ำล้นตลิ่งและภาวะนี้จะหนักยิ่งขึ้น ทั้งจากปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่และการเร่งระบายน้ำของเขื่อนในระดับต่อไปก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์น้ำท่วมต่อจากนี้ไปรุนแรงยิ่งขึ้น

สถานการณ์น้ำ

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอ้างอิงพยากรณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา ที่ว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย ในช่วงระหว่างวันที่ 18 และ 21-24 กันยายนนี้ พร้อมกับคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำเหนือจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาก่อนไหลมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง และลำน้ำสาขา ลงสู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมการ “พร่องลดระดับน้ำ” เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรองรับ “น้ำเหนือ”

ดังนั้น กรมชลประทานจึงต้องปรับปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น เป็นอัตรา 1,990 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน เป็นต้นไป เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนตกลงมา และเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลที่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด

ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดสำคัญ (ระยอง-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา) ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปรากฏปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 3 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางพระ (113 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 97%), หนองปลาไหล (150 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 92%), ประแสร์ (272 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 92% ของความจุอ่าง) ปริมาตรน้ำในอ่างอยู่เหนือระดับ 90% ของความจุอ่าง แสดงให้เห็นถึงปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้เกิด “น้ำท่วม”

ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออก ประกอบกับการขยายตัวของเมือง มีการสร้างอาคาร หมู่บ้านจัดสรร ทำให้มีการถมพื้นที่ลุ่มต่ำที่เคยใช้เป็น “แก้มลิง” เพื่อรองรับ ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมในตัวเมืองระยองอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหลายหน่วยงาน ทั้งกรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงต้องวางแผนรับมือน้ำท่วม

โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง กล่าวในการลงพื้นที่ระยองเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จังหวัดระยองต้องมีการจัดทำแผนแม่บทในการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กระบวนการใช้ระยะเวลา 3-4 ปี แต่เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง มีการถมที่ในบางพื้นที่ ทำให้แผนแม่บทที่วางไว้ไม่สามารถรองรับได้ 100%

อีกทั้งสภาพทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหม่ในบางจุดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาปีนี้มีมาก ขณะนี้จึงต้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน แต่ระยะยาวจะต้องมีการ “ทบทวน” แผนแม่บทในการบริหารจัดการให้เข้ากับสถานการณ์

ขณะที่ นายประสานต์ พฤกษชาติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) กล่าวว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานได้มาหารือกันถึงแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่จะต้องมา “ทบทวน” กันใหม่ทั้งหมด เพื่อให้รองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากกว่าเดิม โดยเฉพาะบริเวณ “คลองทับมา” ที่เดิมเคยมีปริมาณน้ำไหลผ่านมากที่สุด 70 ลบ.ม./วินาที แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 มีปริมาณน้ำไหลผ่านคลองทับมา เพิ่มขึ้นถึง 135 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งไปทั่ว

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมาทบทวนแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์น้ำท่วมกันใหม่หมด

เตรียม 10 ทุ่งรับน้ำหลาก คาดต้นต.ค. มีพายุเข้า 1- 2 ลูก

วันที่ 21 กันยายน 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการ กอนช. ครั้งที่ 3/2565 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุม

สุรสีห์ กิตติมณฑล
สุรสีห์ กิตติมณฑล

นายสุรสีห์ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงปลายเดือน ก.ย. – ต.ค. 65 พบว่า มีแนวโน้มของปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีแนวโน้มของร่องมรสุมพาดผ่านพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รายงานว่ามีแนวโน้มของพายุ จำนวน 1-2 ลูก ที่จะเข้ามาทางประเทศไทย โดยคาดว่าจะเข้ามาในช่วงต้นเดือน ต.ค. 65 ซึ่งจะต้องมีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ที่ประชุมในวันนี้จึงได้พิจารณาร่วมกันถึงการกำหนดเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยจากการติดตามสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีประมาณ 2,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ในขณะที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำในอัตราประมาณ 1,980 ลบ.ม. ต่อวินาที

ทั้งนี้ กรณีหากมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที จะบริหารจัดการน้ำลงมายังท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และระบายออกทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของเขื่อนเจ้าพระยา โดยพิจารณาปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำป่าสักที่จะไหลเข้ามาสมทบด้วย

เบื้องต้นกำหนดให้มีปริมาณน้ำ ณ สถานี อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,000 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งปรับลดลงจากเกณฑ์เดิมซึ่งอยู่ในอัตรา 3,500 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงกรณีมีฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ลำน้ำเจ้าพระยามีศักยภาพในการระบายน้ำได้ดี สามารถรองรับการระบายน้ำออกจากชุมชนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“นอกจากนี้ จะมีการบริหารจัดการน้ำโดยใช้ทุ่งรับน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 10 ทุ่ง ซึ่งก่อนการผันน้ำเข้าทุ่ง จะมีการดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ โดยมีกรมชลประทานสนับสนุนข้อมูลให้ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง จ.ชัยนาทในการพิจารณาการผันน้ำเข้าทุ่ง และทางจังหวัดจะเป็นผู้ประกาศเกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่งให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า”

ทั้งนี้ ปัจจุบันทุ่งรับน้ำดำเนินการเก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 90% โดยการเก็บเกี่ยวจะสิ้นสุดประมาณช่วงปลายเดือน ก.ย. นี้ และจะมีการรับน้ำเข้าทุ่งในปริมาณที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแก่ประชาชน