กกร.ปลุกเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย เล็งประชุมเอเปคดึงลงทุน EEC

กกร.ระดมสมอง CEO ฟื้นความสามารถการแข่งขันประเทศ หวังดัน GDP ไทยปี’66 โตทะลุ 4% เล็งใช้เวที APEC ดึงนักลงทุนเข้า EEC จี้รัฐโละกฎหมายล้าสมัย ชี้ “ท่องเที่ยว” เป็นพระเอกสร้างรายได้ ปั๊มยอด 20 ล้านคน ด้าน “JFCCT” แนะตั้งรับพิษ ศก.โลก-เงินเฟ้อพุ่ง แจกสิทธิประโยชน์ลงทุนต่างชาติ

หลังจากเศรษฐกิจไทยติดหล่มจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวช้าที่สุดในอาเซียน ประกอบกับสถาบัน IMD ได้ประกาศลดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในปี 2565 ลง 5 อันดับ หรือจากอันดับที่ 28 มาอยู่ที่อันดับ 33 จากทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะชี้วัดสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ทว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กลับประกาศปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจาก 2.75-3.0% เป็น 3.0-3.5% พร้อมทั้งยังแสดงความมั่นใจที่ว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 ในอัตราไม่ต่ำกว่า 4% ด้วย

ฟื้นแข่งขัน-ระดมสมอง CEO

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวถึงข้อสรุปในที่ประชุม กกร.ว่า ประเทศไทยต้องเร่งฟื้นความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโดดเด่น ดังนั้นจะมีการหารือกับภาคเอกชนด้วยการเชิญ CEO จากแต่ละกลุ่มธุรกิจมา “ระดมสมองกัน” เพื่อกำหนดแนวทางและข้อสรุปเสนอต่อรัฐบาลในปี 2566 ในการมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4%

“ปัจจัยที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงนั้น เราเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ก่อนที่ IMD จะประกาศลดระดับดัชนีขีดความสามารถของไทยลงมา 5 อันดับ โดยเราได้ตั้งคำถามว่า เหตุใดการลงทุนจากต่างประเทศถึงถดถอยลงและพบว่าประเทศไทยยังต้องพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล

ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในประเทศก็คือ ต้องมุ่งยกระดับ SMEs การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยพัฒนาระบบ e-Government ซึ่งจะโยงกับเรื่องการแก้ไขปัญหาความยาก-การประกอบธุรกิจในประเทศไทย (ease of doing business) ในหลาย ๆ มิติ แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและเป็นต้นทุนของเอกชน ผมมองว่า วิกฤตเป็นโอกาส ถ้าเราจะทำ” นายสนั่นกล่าว

อย่างไรก็ตามขณะนี้ชาวต่างชาติคิดว่า “ประเทศไทยมีเสน่ห์มาก ๆ” เพียงแต่ว่าในส่วนไหนที่เราแก้ไขโดนใจผู้ลงทุนก็จะเป็นโอกาสของประเทศไทย ในปีนี้ประเทศไทยมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 และการประชุม ABAC ในส่วนของภาคเอกชนก็จะใช้โอกาสนี้ในการดึงดูดการลงทุนด้านต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2566 ให้โตมากกว่าปีนี้

“กกร.ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 2.75-3.0% เป็น 3.0-3.5% และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 ไม่ต่ำกว่า 4% โดยปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังมาจากรายได้ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งการเติบโตของการท่องเที่ยวจะส่งผลดีต่อซัพพลายเชนของภาคบริการทั้งหมด ทำให้การจับจ่ายในประเทศดีขึ้น การสร้างงานดีขึ้น และภาคสถาบันการเงินจะสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น”

นักท่องเที่ยวเข้า ปท.เกินเป้า

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงสาเหตุที่ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 จากเครื่องยนต์ตัวที่สองคือ “ภาคท่องเที่ยว” หลังจากไทยเปิดประเทศเต็มที่ นักท่องเที่ยวก็มีการเดินทางเข้ามาเกินเป้า แต่เดิมคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีประมาณ 6 ล้านคน แต่พอเปิดประเทศเข้ามาก็มีสัญญาณที่ดี

ดังนั้นจึงปรับเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวจาก 6 ล้านคน เป็น 9-10 ล้านคน โดยเฉพาะใน 3 เดือนสุดท้ายน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 2 ล้านคน “ก็จะเกินเป้าหมาย” และในปี 2566 ประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเพิ่มขึ้นมากถึง 20 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ของประเทศดีขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

ประกอบกับการที่ “ค่าเงินบาทอ่อนค่า” อยู่อย่างนี้ หากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเกินเป้าหมายก็จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้ค่าเงินบาทเพราะว่าความต้องการเงินบาทมากขึ้นและจะช่วยเรื่องภาวการณ์ขาดดุลเดินสะพัดด้วย “ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ภาคอุตสาหกรรมมองว่ารัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือด้วยการทำงานร่วมกันในการแก้ไขกฎหมาย (แบบกิโยติน) กฎระเบียบและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างจริงจังเพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมากในสายตาของต่างชาติ”

ส่วนการที่สหรัฐกำลังทำสงครามกับเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยทำให้ภาคเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งจากการนำเข้าสินค้าจะลดลงจากทั่วโลก รวมถึงสินค้าส่งออกจากประเทศไทยด้วย แต่ตัวเลขที่รวบรวมมาในช่วง 8 เดือนแรก การส่งออกยังโต 11% ทำให้ กกร.มั่นใจว่าตัวเลขที่ประมาณการใกล้เคียงกัน จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจขึ้นมาเป็น 3.0-3.5%

JFCCT ชำแหละเศรษฐกิจ Q4

นายสแตนลี คัง ที่ปรึกษาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและอดีตประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า ได้ส่งไม้ต่อตำแหน่งประธานหอการค้าต่างประเทศให้กับ “นางวีเบคก้า ริสชอน” รองประธาน JFCCT โดยได้เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญต้องมุ่งเน้นก็คือ การดึงดูดการลงทุนมาประเทศไทยให้ได้ เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก

ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังมีปัญหาชะลอตัว หลังจากที่เผชิญปัญหากับโควิด-19 มาหลายปี ทั้งยังมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ-จีน หรือรัสเซีย-ยูเครน แม้ว่าจะยังมีปัจจัยเงินบาทอ่อนเข้ามาช่วย แต่ก็ยังต้องติดตามว่า รายได้จากส่งออกในไตรมาส 4 จะมีออร์เดอร์เข้ามาอย่างที่คาดการณ์หรือไม่

“ปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลกค่อนข้างเหนื่อยเพราะเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยก็ขึ้น ทำให้มันค่อนข้างปั่นป่วน เงินดอลลาร์แข็ง ตลาดหลักทรัพย์ก็กระทบ ค่าบาทอ่อนค่า สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยในไตรมาส 4 ภาคการส่งออก-การท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้น แต่ว่าค่าครองชีพแพง ดอกเบี้ยเพิ่ม ทำให้ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

ดังนั้นจึงทำให้กระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่ได้มากเท่าไร แม้ว่าภาพรวมไทย การท่องเที่ยวเข้ามาก็ดีขึ้น แต่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ฝากเงินอย่างไรก็ไม่ทัน จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนจะใหญ่ขึ้น ธุรกิจ SMEs จะลำบากมากเพราะต้นทุนสูง รายได้ไม่ค่อยจะดี ต้นทุนขึ้นเร็วกว่า” นายสแตนลีกล่าว

ส่วนปัจจัยด้านการเมืองของไทย ภายหลังจากที่ศาลมีมติให้นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา) กลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จะทำให้เกิดความมั่นใจต่อนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ว่าในช่วง 1-2 ปีนี้จะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การทำธุรกิจจะเดินหน้าต่อ แต่ต้องดูว่าการที่ท่านนายกฯอยู่ต่อจะแก้ปัญหาของประเทศอย่างไรด้วย

ดังนั้นภารกิจในด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการก็คือ การแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตั้ง ดร.กอบศักดิ์ เป็นประธานและก็ได้มีการหารือกันใน กกร. เมื่อการเมืองนิ่งแล้วก็ควรเร่งแก้ไขเรื่องนี้ และที่สำคัญนโยบายรัฐต้องตามให้ทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามามากขึ้น

เช่น ก่อนหน้านี้ก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดังนั้นการพัฒนากฎหมายต้องให้ทันเทรนด์ธุรกิจใหม่ ซึ่งจะเป็นประเด็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่อง Ease of Doing Business จะช่วยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามา รวมทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขาฯคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คนใหม่

เปลี่ยนเลขาฯ BOI วิชั่นใหม่

นายคังกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้พบกับเลขาฯ BOI คนใหม่แล้ว “ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีวิชั่นคนละแบบ ก็น่าจะมีโอกาสมากขึ้นในการดึงดูดการลงทุน” โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมาร์ทคาร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยต้องให้อินเซนทีฟต่อไปเรื่อย ๆ และอีกเรื่องคือ ไทยขาดแรงงาน แรงงานต่างด้าวมากเกินไป ผู้ประกอบการก็เหนื่อยและเสี่ยงเหมือนกัน ทำอย่างไรให้อัพเกรดซัพพลายเชนขึ้นไปใช้ระบบออโตเมชั่นมากขึ้น นั่นเป็นทางหนึ่งที่จะแก้เรื่องแรงงานได้

นอกจากนี้การที่ประเทศไทยมีโอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะใช้เวทีนี้สร้างเวลเนสให้ประเทศไทยมากขึ้น เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกจากที่ออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา “ผมอยู่ในคณะทำงาน เท่าที่ทราบตอนนี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐติดงาน แต่ทางนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ให้คำยืนยันว่า จะเดินทางมาร่วมประชุม APEC แล้ว ไม่นับรวมประเทศอื่น ๆ ทั้งนอก APEC อีกหลายประเทศอยากเข้าร่วม เช่น แคนาดา ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 4 ดีขึ้น โดยมีปัจจัยค่าบาทอ่อนค่ามาเสริมด้วย