กพร.ชงเพิ่มค่าจ้าง 16 อาชีพ ยกระดับแรงงานป้อน “อีอีซี”

กพร.เทงบ 2,300 ล้านพัฒนาแรงงานเขต EEC 1.3 แสนคน รองรับกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve, new S-curve ผ่านศูนย์ Excellent Center รายจังหวัด พร้อมชงปรับค่าจ้างแรงงานฝีมือ 16 อาชีพ ล่าสุด กพร.ยั่วน้ำลายผู้ประกอบการออกโครงการให้กู้ยืมวงเงิน 70 ล้านบาท สามารถลดหย่อนภาษีได้ 100%

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาคน ให้สอดคล้องกับการลงทุน ทั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประเภท Engine of Growth ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) รวมทั้งไทยแลนด์ 4.0 จึงทำให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดเตรียมแผนระยะ 1 ปี, 5 ปี และ 20 ปี

โดยปี 2561 ใช้งบประมาณ 2,300 ล้านบาท ในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน 130,000 คน ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve, new S-curve, นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี ผ่านสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ศูนย์ Excellent Center และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในแต่ละจังหวัด

พัฒนาแรงงาน 1.3 แสนคน

นายสุทธิเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กพร.มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ระยอง, ชลบุรี, สงขลา, ภูเก็ต, สมุทรปราการ, สุพรรณบุรี, เชียงใหม่ และเชียงราย โดยแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะอุตสาหกรรมในจังหวัด เช่น นครราชสีมา จะเน้นด้านไฟฟ้า และโทรคมนาคม ระยองจะเน้นเรื่องออโตเมชั่น และหุ่นยนต์ ตั้งเป้ามีผู้ผ่านการอบรม 20,000 คน / ปี

“อีกทั้งยังมีการตั้งศูนย์ Excellent Center ซึ่งยกระดับมาจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยใช้งบประมาณ 2.5 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อครุภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อใช้ในการฝึกอบรมแรงงาน โดยปัจจุบันมีอยู่ 9 จังหวัดได้แก่ สมุทรปราการ, เชียงราย จะเน้นด้านโลจิสติกส์ รองรับจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ การค้าชายแดน, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, ราชบุรี และลำปาง จะเป็นด้านออโตเมชั่น เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่ระยอง จะรองรับด้านยานยนต์ ส่วนฉะเชิงเทรา จะรองรับด้านดิจิทัลเป็นหลัก โดยตั้งเป้าอบรมแรงงาน 10,000 คน / ปี”

“สำหรับการพัฒนาแรงงานยุคไทยแลนด์ 4.0 จะดำเนินการผ่านสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะได้รับการเครื่องมือ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่ระบบออโตเมชั่น โดยตั้งเป้าจะพัฒนาแรงงานจำนวนกว่า 100,000 คน / ปี รวมทั้งหมดก็จะประมาณ 1.3 แสนคน ที่ปัจจุบันเราพัฒนาแรงงานไปแล้วกว่า 33,000 คน” นายสุทธิกล่าว

ป้อน EEC เน้นปฏิบัติ-ภาษา 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอว่าให้นำกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาในชั้นปีสุดท้าย มาพัฒนาทักษะให้มีความพร้อมก่อนเข้าตลาดแรงงาน ด้วยการเพิ่มทักษะภาคปฏิบัติให้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มทักษะด้านภาษา เพื่อสื่อสารกับชาวต่างชาติได้

อาทิ ภาษาอังกฤษ, ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีน ขณะเดียวกัน กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบ ควรได้รับการพัฒนาทักษะให้เป็น multi skills เพื่อช่วยลดต้นทุนการจ้างงาน และลดปัญหาด้านแรงงานที่ขาดแคลนอีกด้วย

ทั้งนี้ในการพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับ EEC กพร.มีการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนรายจังหวัดระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) แล้วจำนวน 161,696 คน โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน, โลจิสติกส์และขนส่ง, ท่องเที่ยวและบริการ, เกษตร และประมง/ปศุสัตว์ และดิจิทัล หากแบ่งจำนวนแรงงานที่พัฒนารายจังหวัดคือ ชลบุรี 43,950 คน เน้นด้านยานยนต์ และชิ้นส่วน, ระยอง 91,450 คน เน้นด้านการท่องเที่ยว และบริการ รวมถึงเกษตรและประมง/ปศุสัตว์ ส่วนฉะเชิงเทรา 26,569 คน จะเน้นด้านดิจิทัล

ธุรกิจสปาค่าแรงสูงสุด

นอกจากนี้ กพร.ยังส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้สถานประกอบการได้แรงงานที่มีผลิตภาพดี และแรงงานหลุดพ้นจากปัญหาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากแรงงานฝีมือเป็นกลุ่มทักษะที่ได้ค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่แล้ว

“ปัจจุบันอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือสูงสุดในขณะนี้ คือ 815 บาท ซึ่งอยู่ในสาขาอาชีพภาคบริการคือ นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก (โภชนบำบัด) รองลงมาคือสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ โดยเฉพาะช่างเชื่อมทิกอัตราค่าจ้างอยู่ที่ 775 บาท และสาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ โดยเฉพาะช่างเครื่องประดับ (ประดับอัญมณี) อยู่ที่ 750 บาท”

เพิ่มค่าแรง 4 กลุ่มอาชีพ

นอกจากนี้ ในปี 2560 ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 มีมติเห็นชอบให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เพิ่มในอีก 4 กลุ่มอุตสาหกรรม 16 สาขาอาชีพ ซึ่งประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมเหล็ก ได้แก่ อาชีพพนักงานหลอมเหล็กเตาอาร์คไฟฟ้า, พนักงานปรุงแต่งน้ำเหล็กในเตาปรุงเหล็ก, พนักงานหล่อเหล็ก และพนักงานควบคุมการอบเหล็ก 2.อุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ ช่างเทคนิคเครื่องฉีดพลาสติก, ช่างเทคนิคเครื่องเป่าถุงพลาสติก, ช่างเทคนิคเครื่องเป่าภาชนะกลวง และช่างเทคนิคการซ่อมเครื่องเป่าถุงพลาสติก

3. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ พนักงานเตรียมวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จริง, พนักงานผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ, พนักงานประกอบเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง และช่างทำสีเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง และ 4.อุตสาหกรรมรองเท้า ได้แก่ สาขาอาชีพพนักงานตัดวาดรองเท้า, พนักงานอัดพื้นรองเท้า, ช่างเย็บรองเท้า และพนักงานประกอบรองเท้า (เย็น)

ลดหย่อนภาษี 100%

นายสุทธิกล่าวอีกว่า กพร.ยังมีโครงการให้กู้ยืมเงิน สำหรับบริษัท หรือผู้ประกอบการเพื่อนำไปใช้อบรม และพัฒนาแรงงาน วงเงิน 70 ล้านบาท ซึ่งปีที่ผ่านมามีสถานประกอบการทำการ

กู้เงินไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท เงินกู้ยืมเงินจำนวนนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 100% ซึ่งที่ผ่านมามีสถานประกอบการขอลดหย่อนภาษีไปแล้วกว่า 1,300 ล้านบาท

“คาดว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า วงเงิน 70 ล้านบาทอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และผู้ประกอบการหลายแห่งในปัจจุบันยังไม่ให้ความสนใจที่จะเพิ่มทักษะให้กับแรงงานมากนัก เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีของไทยยังไม่ไปไกลเท่าไหร่นัก”

“อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กพร.ตั้งเป้าที่จะทดสอบฝีมือแรงงานให้ได้ทั้งสิ้น 130,000 คน ตรงนี้รวมถึงกลุ่มแรงงานที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ อาทิ ผู้ผลิตอาหารไทย, ช่างเชื่อม, กลุ่มงานนวด/สปา และกลุ่มช่างก่อสร้างอีกด้วย” นายสุทธิกล่าว