ส่งออกของเล่นรับปีใหม่ 11 เดือน 312.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.01%

ของเล่น

สนค.ชี้ส่งออกของเล่นไทยเติบโต ฉลองเทศกาลส่งท้ายปี แนะผู้ประกอบการมุ่งสู่กระแสรักษ์โลก ส่งออกช่วง 11 เดือนแรกรวม 312.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.01%

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าของเล่นที่มีความโดดเด่นด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า และเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ ของเล่นจึงเป็นสินค้าส่งออกศักยภาพที่มีแนวโน้มเติบโต

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ส่งออกจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าของเล่นให้ตรงกับความต้องการของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค

อาทิ การออกแบบสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมจินตนาการ มีดีไซน์และรูปแบบใหม่ ๆ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตที่ทันสมัย เพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐาน การเลือกใช้วัสดุที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่ความยั่งยืน

สถิติการส่งออกสินค้าของเล่นของไทย ปี 2564 พบว่าไทยส่งออกสินค้ากลุ่มของเล่นมีมูลค่ารวม 306.14 ล้านเหรียญสหรัฐ (9,665.43 ล้านบาท) ขยายตัว 10.74% จากปีที่ผ่านมา สำหรับปี 2565 ช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่าการส่งออกรวม 312.36 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,832.35 ล้านบาท) ขยายตัว 10.01% จากปีที่ผ่านมา

และในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเทศกาลสำคัญส่งท้ายปี มีมูลค่าส่งออก 24.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (939.75 ล้านบาท) ขยายตัว 3.52% จากเดือนที่ผ่านมา

ของเล่น

เมื่อพิจารณาประเภทของสินค้าส่งออกกลุ่มของเล่น พบว่ามีการส่งออกสินค้ากลุ่มของเล่นที่มีล้อ ตุ๊กตา และของเล่นสําหรับฝึกสมองทุกชนิด (พิกัดศุลกากร 9503) มูลค่าสูงที่สุด โดยปี 2564 มีมูลค่าส่งออก 254.71 ล้านเหรียญสหรัฐ (8,034.75 ล้านบาท) ขยายตัว 10.21% จากปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกสำคัญคือ สหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าส่งออก ร้อยละ 34.9) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 15.1) และเยอรมนี (ร้อยละ 5.2)

สินค้ากลุ่มที่มีมูลค่าการส่งออกรองลงมา ได้แก่ กลุ่มของเล่นที่ใช้ในงานเทศกาล งานรื่นเริง หรืองานบันเทิงอื่น ๆ (พิกัดศุลกากร 9505) มีมูลค่าส่งออก 51.28 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,625,91 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 15.21 จากปีที่ผ่านมา และเครื่องเล่นในสวนสนุก (พิกัดศุลกากร 9508) มีมูลค่าส่งออก 0.15 ล้านเหรียญสหรัฐ (4.77 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 81.93 จากปีที่ผ่านมา ตามลำดับ

จะเห็นว่ากลุ่มของเล่นที่มีล้อ ตุ๊กตา และของเล่นสําหรับฝึกสมองทุกชนิด เป็นสินค้าที่ไทยมีความโดดเด่น ตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทยคือสหรัฐ โดยสหรัฐนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 6 ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งร้อยละ 0.7 ของมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐ รองจากคู่แข่งรายใหญ่ ได้แก่ (1) จีน (ส่วนแบ่งมูลค่านำเข้า ร้อยละ 81) รองลงมา ได้แก่ (2) เวียดนาม (ร้อยละ 6.4) (3) เม็กซิโก (ร้อยละ 3.8) (4) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 2.2) และ (5) ไต้หวัน (ร้อยละ 1.3)

นอกจากนี้ ไทยโดดเด่นด้านของเล่นไม้ โดยเฉพาะที่ทำจากไม้ยางพารา สอดคล้องกับกระแสความยั่งยืนที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงไทยมีความได้เปรียบด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศเมื่อเทียบกับคู่แข่งประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน

ของเล่น

สำหรับแนวโน้มด้านการค้าและการตลาดของสินค้าของเล่น รายงานเรื่อง “Toys Go Green-Sustainability in Toys and Games” ของ Euromonitor International (2022) ชี้ให้เห็นว่า โดยทั่วไปสินค้าของเล่นได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานสั้น ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก รวมทั้งใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนมาก ความยั่งยืนจึงเป็นประเด็นท้าทายของอุตสาหกรรมของเล่นทั่วโลก ผู้ผลิตต้องปรับกระบวนการผลิตหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อาทิ เปลี่ยนวัสดุจากพลาสติกเป็นไม้ ปรับเปลี่ยนจากการใช้พลาสติกที่มาจากปิโตรเลียม เป็นพลาสติกชีวภาพ ควบคู่กับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลง ควรออกแบบให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ นอกจากนี้ ผู้ผลิตของเล่นบางรายยังเริ่มออกแบบและจำหน่ายของเล่นที่ให้ความรู้เด็ก ๆ เกี่ยวกับความยั่งยืนด้วยวิธีที่สนุกสนานออกสู่ตลาดอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้ส่งออกสินค้าของเล่น นอกจากต้องออกแบบของเล่นให้ตรงกับกระแสความนิยมและความต้องการของตลาด รวมทั้งผลิตของเล่นให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่ใช้ทรัพยากรและให้เกิดของเสียน้อยที่สุด สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำ การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งไทยมีความโดดเด่นในการผลิตของเล่น อาทิ ไม้ยางพารา หรือพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลัง จะช่วยให้อุตสาหกรรมของเล่นไทยสามารถแข่งขันได้ต่อไป ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

ของเล่น