ภาคใต้ฝนตกหนัก 6-11 ม.ค. 66 กำชับโครงการชลประทานเฝ้าระวังใกล้ชิด

กรมชลประทาน สถานการณ์น้ำ ภาคใต้

กรมชลประทาน ประชุมติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ เผยอุตุฯ เตือนวันที่ 6-11 ม.ค. 2566 ภาคใต้มีปริมาณฝนตกหนักกำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

วันที่ 4 ธันวาคม 2565 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 61,397 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 37,443 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,783 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 13,087 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี

ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา , แม่น้ำท่าจีน , แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 65/66 ปัจจุบันจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 7,309 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 2,080 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)

จนขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศไปแล้ว 4.72 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของแผนฯ ในขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 3.55 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 54 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูกไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ของแผนฯ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด

ทั้งนี้ เกษตรกรบางส่วนใช้น้ำค้างทุ่งในการเพาะปลูก จึงทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเพียงพอสนับสนุนให้เกษตรได้ใช้เตรียมแปลงเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งนี้

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลาง บริหารจัดการน้ำอย่างปราณีต ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดโดยไม่กระทบต่อเกษตรกร พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 65/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 6 – 11 ม.ค.66 ยังคงมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์

พร้อมปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องจักร อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแทรกเตอร์ รถขุด และเครื่องจักรอื่นๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง

ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ในส่วนของพื้นที่ที่ปริมาณฝนลดลงแล้ว ให้ควบคุมและรักษาระดับน้ำใต้ดินในพรุให้สมดุล เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ด้วย