วันเด็กแห่งชาติ 2566 รับขวัญลูกเต่ามะเฟืองรังแรก 64 ตัว

ลูกเต่ามะเฟืองรังแรก

วันเด็ก ปี 2566 รับขวัญลูกเต่ามะเฟืองฟักออกจากหลุม เป็นรังแรกของฤดูกาล พร้อมปล่อยกลับสู่ทะเล 64 ตัว

วันที่ 14 มกราคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า วันนี้ (14 มกราคม 2566) เวลา 02.00 น. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองหาดบางขวัญ จ.พังงา สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (พังงา) และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน แจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์เฝ้าระวังหลุมฟักไข่เต่ามะเฟือง

หลังตรวจพบการยุบตัวของปากหลุมของรังที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 จนกระทั่งผ่านไปอย่างยาวนานไม่พบลูกเต่าขึ้นมาจากหลุมฟักแต่อย่างใด ทีมสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจึงตัดสินใจเปิดปากหลุมเพื่อให้ลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักตัวคลานออกมา แต่พอขุดลงไปกลับพบรากไม้ที่มีขนาดใหญ่และเป็นรากฝอยเป็นจำนวนมาก จึงเร่งดำเนินการขุดรังเต่ามะเฟืองเพื่อช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักออกจากไข่ขึ้นมาจากหลุม

เนื่องจากเกรงว่าหากปล่อยไปนานมากกว่านี้ลูกเต่ามะเฟืองจะตายได้ จากนั้นได้ช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองในหลุมที่ยังแข็งแรงและนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติจำนวน 64 ตัว รวมถึงช่วยลูกเต่ามะเฟืองที่อ่อนแอรอการพักฟื้นในตู้ ICU Box เพื่อกระตุ้นการฟัก จำนวน 4 ตัว

อีกทั้งยังพบไข่เต่ามะเฟืองที่ไม่พัฒนาจำนวน 37 ฟอง และลูกเต่ามะเฟืองตายแรกคลอดจำนวน 1 ตัว รวมทั้งหมดแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่จำนวน 106 ฟอง ทั้งนี้สำหรับรังไข่เต่ามะเฟืองรังถัดไป กรมทะเลชายฝั่งได้วางแผนนำเต่ามะเฟืองที่ได้จากการฟักตามธรรมชาติ นำมาเลี้ยงอนุบาลให้แข็งแรงในระยะเวลา 1 ปี หรือกระดองเต่ามีขนาดมากกว่า 30 เซนติเมตร ก่อนที่จะปล่อยกลับไปสู่ทะเล เพื่อให้ลูกเต่ามะเฟืองนั้นมีโอกาสในการอยู่รอดและเติบโตจนสามารถสืบพันธุ์และวางไข่ได้ตามธรรมชาติต่อไป

Advertisment

สำหรับการฟักไข่ของลูกเต่ามะเฟืองรังดังกล่าว นับเป็นรังแรกของฤดูกาล ที่แม่เต่ามะเฟืองได้ขึ้นมาวางไข่ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และเป็นข่าวดีที่ตรงกับวันเด็กแห่งชาติ สร้างความยินดีแก่บรรดานักอนุรักษ์และพี่น้องประชาชนที่เฝ้ารอคอยการฟักไข่ของลูกเต่ามะเฟือง

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ในการเฝ้าติดตามลูกเต่ามะเฟืองรังที่ 1 ตนได้มอบหมายให้ ดร. พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ติดตามการฟักไข่ของลูกเต่ามะเฟือง พร้อมด้วยดร. ก้องเกียรติ วัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง นายประถม รัสมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 และผู้เกี่ยวข้องร่วมสังเกตการณ์

นอกจากนี้ ตนได้กำชับให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ดำเนินการให้ข้อมูล สร้างองค์ความรู้ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยี่ยมชมในพื้นที่ และจัดเวรเฝ้าระวังในช่วงดึกต่อเนื่องเช้ามืดโดยร่วมกับชุมชนเดินเต่า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่แม่เต่ามะเฟืองที่อาจจะขึ้นมาวางไข่อีกครั้ง

สุดท้ายนี้ เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่จะขึ้นวางไข่ เมื่อสภาพแวดล้อมดีและพื้นที่ปลอดภัย เมื่อลูกเต่าฟักออกจากไข่จะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์และสามารถรอดปลอดภัย เมื่อสัตว์ทะเลไว้ใจหมู่บ้านเรา จังหวัดเรา หรือประเทศของเรา พวกเรายิ่งต้องดูแลทรัพยากรทางทะเลของเราให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม