อัคราฯ ดึงผู้นำ 3 จังหวัด เป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบเหมือง

เหมืองอัครา

เหมืองแร่ทองคำอัครา ดึงผู้นำ ผู้แทนชุมชนรอบเหมือง 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ และคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชน ตามยุทธศาสตร์แร่ ให้เสร็จก่อนเปิดเหมืองเร็ว ๆ นี้

วันที่ 19 มกราคม 2566 นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาอัคราฯได้สมทบทุนเข้ากองทุนต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 243 ล้านบาท บนความตั้งใจที่ต้องการให้กองทุน เป็นอีกกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน โดยมีประชาชนเป็นผู้กำหนดแนวทางการพัฒนาของตนเอง อย่างไรก็ตาม เงินในกองทุนถูกนำไปใช้ในโครงการวิชาการเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ชุมชนกลับเข้าถึงเม็ดเงินเหล่านี้ได้ค่อนข้างยาก จึงเป็นที่มาของการร่วมกันบูรณาการโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนในครั้งนี้

“กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้กรุณารับข้อเสนอจากผู้นำชุมชนในพื้นที่ ไปพิจารณาประกอบการจัดทำระเบียบ ทำให้จากนี้ไป อำนาจในการบริหารจัดการเงินกองทุนทั้ง 2 จะอยู่ที่คณะกรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนของคนในพื้นที่ทั้งหมด

ดังนั้น การพิจารณาข้อเสนอโครงการ การอนุมัติ การเบิกจ่ายเงิน และการติดตามผล จะมีเส้นทางการสื่อสารสั้นลง และจะสามารถสนองความต้องการของคนในพื้นที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ ได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ ตามประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคํา ออกโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ บริษัทต้องสมทบเงินเข้ากองทุนจำนวน 4 กอง คิดเป็น 22% ของค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทชำระในแต่ละปี หรือรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี

โดยกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดําเนินกิจกรรมหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหมู่บ้านรอบเหมืองแร่ของบริษัท ทั้งในด้านการพัฒนาอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนในเขตรัศมี 3 กิโลเมตร จำนวน 17 หมู่บ้าน โดยบริษัทต้องจ่ายเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าภาคหลวงแร่ที่ชำระในแต่ละปี แต่ต้องไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบการ

ในส่วนของกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรม หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนรอบพื้นที่เหมืองแร่ในเขตรัศมี 5 กิโลเมตร จำนวน 28 หมู่บ้าน โดยบริษัทต้องจ่ายเงินสมทบในอัตรา 3% ของค่าภาคหลวงแร่ที่ชำระในแต่ละปี แต่ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบการ

นายนิพล ผมน้อย กำนันตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า หลังจากที่ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนแล้ว ทางเราจะรีบทำหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเงื่อนไข เพื่อให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และรัดกุมสามารถตรวจสอบได้ และให้เกิดความสะดวกคล่องตัว ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนรอบพื้นที่เหมืองในระยะรัศมี 3 กิโลเมตร
สำหรับหนึ่งในโครงการในชุมชนที่หวังจะได้รับ การส่งเสริมจากกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ คือ กลุ่มแม่บ้านทำน้ำพริกเครื่องแกง โดยนายสมชาย แหลมนาค ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า

“ทางหมู่บ้านได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ น้ำพริกเครื่องแกงให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น จึงได้เตรียมแผนการขยายเครือข่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวและชุมชน”

นายเชิดศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “อัคราฯให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้ประกาศรับสมัครชาวบ้านเข้าทำงานที่เหมือง และในวันนี้ที่ช่วยผลักดันผ่านความเห็นชอบของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ชุมชนมีบทบาทในการบริหารกองทุนมากขึ้น ซึ่งเราหวังอย่างยิ่งว่ากองทุนเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไป”