PTTGC ลั่นปั๊มยอดขายปี’66 โต 15% เตรียมเปิด COD 2 โรงงานใหม่

คงกระพัน อินทรแจ้ง
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC)

จีนเปิดประเทศหนุน PTTGC ปั๊มยอดขายปี 2566 โต 15% จากปีก่อน ไตรมาส 1 เตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 2 โรงงานใหม่ โรงกลั่นน้ำมัน-ปิโตรเคมี พร้อมอัดงบฯลงทุนปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท ไม่รวม M&A คาดปีนี้มีความชัดเจนการลงทุนโรงงานผลิตรีไซเคิลพลาสติกในสหรัฐ

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) หรือ GC เปิดเผย ถึงทิศทางธุรกิจในปี 2566 ว่ามีแนวโน้มที่จะกลับมาเติบโต 15% ในเชิงปริมาณ จากการผลิตที่จะปรับเพิ่มขึ้นในหลายสินค้า

โดยคาดว่าในไตรมาส 1/2023 จะมีโรงงานสร้างเสร็จพร้อม COD โครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2  และโครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC) ที่ร่วมทุนกับ บริษัท Kuraray และบริษัท Sumitomo ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิต High Heat Resistant Polyamide-9T (PA-9T) จำนวน 13,000 ตันต่อปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) จำนวน 16,000 ตันต่อปี นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับเมกะเทรนด์โลก และปีนี้จะไม่มีการปิดซ่อมบำรุง

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานไบพลาสติก (PLA) แห่งที่ 2 ร่วมกับพันธมิตร NatureWorks หรือนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เสร็จสิ้น ปี 2567 เป็นฐานผลิตที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 กำลังผลิต 75,000 ตัน รองจากฐานผลิตของเนเจอร์เวิร์คที่สหรัฐ ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวจะรองรับความต้องการใช้ไบโอพลาสิติกส์ในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย

ทั้งนี้ ผลประกอบการ ในปี 2565 มูลค่า 678,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% โดยกำไร EBITDA มูลค่า 49,134 ล้านบาทลดลง 13% ส่วนแบ่งกำไร 2,908 ล้านบาท ลดลง 58% เป็นปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทั้งจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน สหรัฐ จีน ส่งผลผลให้ต้นทุนราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงวัตถุดิบที่สูงขึ้น ขณะที่ซัพพลายการผลิตปิโตรเคมีของโลกมีปริมาณมากขึ้นทำให้ราคาขายปรับตัวลดลง

จีนเปิดประเทศ หนุนธุรกิจ

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจในปีนี้ ประกอบด้วยปัจจัยจากภายนอก ซึ่งน่าจะได้รับผลดีภายหลังจากที่จีนเปิดประเทศ ทำให้มีการเดินทางและจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น แต่ยังต้องระวังเพราะว่าจีนเปิดได้ก็ปิดได้ ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมลูกค้า 4 อุตสาหกรรมหลัก คือ ยานยนต์ สิ่งทอ บรรจุภัณฑ์ และก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นทั่วโลก

ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อ 5 กลุ่มสินค้าหลัก ประกอบด้วย เบสท์เคมิคอล ทั้งน้ำมัน โอเลฟิน อะโรเมติกส์ มีกำลังการผลิตล้นเพราะโรงงานส่วนใหญ่ได้ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไปก่อนหน้านี้ น่าจะดีขึ้นหลังจากที่มีการเดินทาง ขณะที่สินค้ากลุ่มกลางน้ำ เช่น ไกรคอล ฟีนอล และสินค้ากลุ่มปลายน้ำ คือ โพลิเมอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิ้นกับผู้บริโภคมาก ๆ ได้รับผลดีขึ้น

ขณะที่สินค้าใหม่คือกลุ่ม Bio & Circular และกลุ่ม Performance Chemical ทางจีซีได้เข้าประกอบกิจการในธุรกิจ Allnex สหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสารเคลือบผิวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในปีที่แล้วรับรู้รายได้เต็มปี ส่วนในปีนี้ Allnex มีแผนจัดตั้ง China Hub ขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ในกลุ่มตลาดจีน และจะมีการตั้ง Thailand Innovation Hub ในไตรมาส 2 ปีนี้ ทั้งนี้ Allnex ปัจจุบันมี โรงงาน 30 แห่ง มีศูนย์วิจัยและพัฒนา 20 แห่ง โดยหลักอยู่ในตลาดสหภาพยุโรป 40% และสหรัฐ 20% ที่เหลือในเอเซียและอาเซียน

“ปัจจัยสำคัญอีกด้านคือเรื่อง Crude Premium ซึ่งปกติจีซีใช้ดีเซล และน้ำมันเตาที่ไม่มีซัลเฟอร์ตามมาตรฐานสากลต้องลดการปล่อยซัลเฟอร์เป็นศูนย์ที่หลาย ๆ คนคงได้ยินว่ามีการส่งเสริมการใช้น้ำมันยูโร 5 ซึ่งราคาน้ำมันดิบหรือ Crude ที่ต้องซื้อต้องมีความสะอาดมีมาตรฐาน บวกเพิ่มไป 10 กว่าเหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล ซึ่งในปีนี้ก็ต้องจับตาสถานการณ์ Crude ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด”

งบฯลงทุนหมื่นล้าน

ดร.คงกระพัน กล่าวว่า ภาพรวมแล้วจีซีมีแผนการลงทุนในปีนี้ราว 10,000 ล้านบาท คลอบคลุมทั้งการลงทุนในธุรกิจหลัก รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการคอมเพนเซส เพื่อไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะเป็น Net Zero ในปี 2050

อย่างไรก็ตาม งบประมาณส่วนนี้จะไม่รวมการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งทางจีซีอยู่ระหว่างการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ หากได้ข้อสรุปดีลที่น่าสนใจ ก็พร้อมจะเสริมงบประมาณเพิ่มในส่วนนี้

“ในสหรัฐ ซึ่งเดิมมีแผนขยายการลงทุน ปิโตรคอมเพล็กซ์ ขณะนี้ยังมองหาพันธมิตรใหม่อยู่ ยังไม่ได้พับแผน ทั้งยังมองโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลและท่าเรือแอลเอ็นจีในสหรัฐ เพราะมีต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ถูก อีกทั้งในสหรัฐยังมีกฎหมายส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับความยั่งยืน (IRA) ที่จะไปช่วยลดการปล่อยคาร์บอนต่าง ๆ ซึ่งจะสอดรับกับกลุยทธ์ Step up ที่จีซีมุ่งจะขยายการลงทุนเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”

ขณะที่ความแข็งแกร่งด้านการเงินในปี 2565 ดร.คงกระพัน กล่าวว่า เราตระหนักดีว่าในสภาวะวิกฤตธุรกิจต้องเตรียมพร้อมเรื่องสภาพคล่องให้แข็งแกร่ง ซึ่งในปีที่ผ่านมา จีซีประสบความสำเร็จเรื่องการออกหุ้นกู้ 30,000 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนทางการเงินของเราดี ทั้งยังร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ออก Sustainability Link Loan เป็นครั้งแรก 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์โลกที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้เรามีเงินทุนตุนไว้สำหรับการลงทุนใหม่หากตัดสินใจที่จะลงทุนในปีนี้

พร้อมกันนี้ยังมีดำเนินกลยุทธ์ตัวเบา หรือ Asset light โดยบริษัทได้มีการรีไฟแนนซ์ Allnex ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน 800 ล้านยูโร และให้ Allnex ทำการเข้าซื้อกิจการเล็ก ๆ (Acquisition) ทั้งยังมีการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง 15% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท ลดงบฯลงทุน CAPEX แบบ Zero Growth ไม่ใช่ไม่ลงทุนแต่เป็นการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า

ยืนกลุยทธุ์ 3 Step ลุยต่อ “สหรัฐ”

ทั้งนี้ จีซียังดำเนิน 3 กลยุทธ์ คือ Step Change การปรับเปลี่ยนสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง Hight Value Product, Step Out คือการขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีการลงทุนอยู่ในประมาณ 40 ประเทศทั่วโลก โดยการ Step up ซึ่งจะดำเนินการทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพ (Efficiency-driven) การ ปรับสัดส่วนธุรกิจ กลุ่ม High Value Business (HVB) และการ Compensationdriven ดำเนินโครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างสมดุลของระบบนิเวศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งจาการปลูกป่า และการลงทุนทำระบบกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น

“กลยุทธ์ 3  STEP เหมือนเดิมแต่จะเข้มข้นมากขึ้น เรามี Allnex อยู่ในมือจะใช้ เชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นในกลุ่มจีซีเพื่อสร้างการเติบโต และอาศัยจุดแข็งทางด้านเครื่องมือทางการเงินในการลงทุนสร้างการเติบโตในอนาคต โดยจะมองถึงเมกะเทรนด์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ 5 ด้าน คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนเพื่อรับสังคมสูงวัย การลงทุนรับสังคมเมืองที่จะมีการใช้รีไซเคิล เซอร์คูล่ามากขึ้น เป็นต้น”

ปรับพอร์ต เพิ่มสินค้าคุณภาพดี

ในปีที่ผ่านมา เราปรับแผนโดยลดสัดส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non Core Business) ปีก่อน คือ บริหารจัดการพอร์ตธุรกิจ การลดสัดส่วนการลงทุนในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) การหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ เช่น การร่วมกับ บมจ.กัลฟ์ ในการทำธุรกิจ Tank Terminal และการร่วมกับ บริษัท AGC Vinythai หรือ AVT ในการขยายสู่ธุรกิจพีวีซี ที่แข็งแกร่งในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม

จีซีมีแผนที่จะปรับเพิ่มสัดส่วนธุรกิจผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง (High Value Product : HVP) เพิ่มขึ้น เช่น โพลิเมอร์ เป็นวัสดุที่ต้องใช้อนาคต แต่ต้องผลิตให้คุณภาพดี ยืดหยุ่นได้มาก และใช้ได้นานขึ้น โดยเป้าหมายสำคัญของการปรับพอร์ตเราวางว่า สินค้า HVP ปี 2565 มีสัดส่วน 36% ในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 56% ในปี 2573 สินค้ากลุ่มพลาสติกชีวภาพเพื่อความยั่งยืน (Bio & Circular) ที่เรามีโรงงานกับเนเจอร์เวิร์คผลิตไบโอพลาสติกเป็นเบอร์  1 ในโลก

พร้อมกันนี้ ได้วางศิลาฤกษ์ที่นครสวรรค์ไบโอคอมแพล็ตแล้ว โรงงานจะเสร็จในปี 2568 ภาพรวมจะผลิตไบโอได้ 1 ล้านตัน และผลิตสินค้ากลุ่ม Performance Chemical ซึ่งเป็นเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษอย่าง ใน Allnex ให้มีสัดส่วน EBITDA เพิ่มจากปี 2564 ที่มี 22% เป็น 1 ใน 3 หรือ 35% ในปี 2573 (2030) โดยภาพรวมเฉลี่ย EBITDA ของจีซีจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อไป