ห้างแห่ติดตั้ง “โซลาร์รูฟ” ต้นทุนลด-แถมสิทธิ BOI

โซลาร์รูฟท็อปบูม โมเดิร์นเทรดวัสดุแห่ติดตั้ง ลดค่าไฟจูงใจธุรกิจ-โรงงานอุตสาหกรรมได้หลายต่อ ต้นทุนลดฮวบรับสิทธิประโยชน์จาก BOI แค่ 3 ปีคืนทุน บริษัทรับติดตั้งกว่า 1 พันราย อัดโปรโมชั่นดึงลูกค้าสุด ๆ ลงทุนก่อนจ่ายทีหลัง

นายพลกฤต กล่ำเครือ ชมรมช่างและผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล นำร่องลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งสามารถลดค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบการไฟฟ้าปกติได้ค่อนข้างมาก ที่สำคัญคืนทุนได้ภายในระยะเวลารวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นสนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มจำนวนมาก ในจำนวนนี้แบ่งตามลักษณะการประกอบกิจการได้เป็น 5 กลุ่ม

คือ 1) กลุ่มห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นทรัลกรุ๊ป ไฮเปอร์มาร์เก็ต และโมเดิร์นเทรด เช่น บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด เทสโก้ โลตัส 2) กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) อาคารสำนักงาน 3) ผู้ประกอบการตลาดทั่วไป และ 4) กลุ่มคอมมิวนิตี้มอลล์ เช่น เดอะวอล์ค และ 5) กลุ่มผู้จัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง เช่น บมจ.โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์, บจ.ซีอาร์ซี ไทยวัสดุ, บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ เป็นต้น

ต้นทุนลด-ได้สิทธิพิเศษ BOI

เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการสนใจลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เป็นเพราะที่ผ่านมาต้นทุนวัสดุและค่าติดตั้งลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 30 ล้านบาท/เมกะวัตต์ จากเดิมต้นทุนอยู่ที่ 60-100 ล้านบาท/เมกะวัตต์ นอกจากนี้ผู้รับติดตั้งยังมีโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล และจำลองการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้เห็นภาพก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจลงทุน

ขณะเดียวกัน เหตุผลอีกประการที่ทำให้โซลาร์รูฟท็อปน่าลงทุนคือ ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI โดยได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดิน) การได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวทำให้การลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปคืนทุนได้ภายใน 3 ปี จากเดิมที่ใช้เวลา 6 ปีถึงจะคืนทุน

Advertisment

“เซ็นทรัล-โลตัส” บูมติดตั้ง

“เมื่อบีโอไอส่งเสริมลงทุนทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจลงทุนมากขึ้น ทำให้ยอดการติดตั้งเพิ่มขึ้นมาก อย่างโมเดิร์นเทรดบางรายติดตั้งรวม 600 กิโลวัตต์ ได้ไฟฟ้าอยู่ที่ 600 กิโลวัตต์เช่นกัน เมื่อคำนวณกับช่วงเวลาที่มีแดดที่ 3.7 ชม. เท่ากับว่าผลิตไฟฟ้าได้ 2,200 กิโลวัตต์/วัน หรือ 66,000 กิโลวัตต์/เดือน เมื่อคำนวณจากค่าไฟที่ซื้อจากการไฟฟ้าที่ 4.2 บาท/หน่วย (อัตราค่าไฟแบบ TOU ที่ซื้อจากการไฟฟ้า) ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 277,200 บาท/เดือน ทั้งปีลดค่าไฟได้ 3.3 ล้านบาท

ผู้สนใจติดตั้งส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน ระหว่าง 11.00-17.00 น. ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทรับติดตั้งที่เป็นสมาชิกของชมรม ได้ติดตั้งให้กับเทสโก้ โลตัส ไป 3 สาขาแล้ว และในเครือเซ็นทรัลติดตั้งแล้วกว่า 26 สาขา”

ทุนจีนแห่ตั้งโรงงานผลิตในไทย

Advertisment

นายพลกฤตกล่าวว่า การขยายตัวของโซลาร์รูฟท็อปในปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจรับติดตั้งขยายตัวตามไปด้วย ปัจจุบันมีบริษัทรับติดตั้งมากกว่า 1,000 รายทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนต่างชาติ อย่างเช่นจากประเทศจีน ที่เข้ามาสร้างโรงงานผลิตและประกอบแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น เพราะไม่สามารถส่งออกแผงโซลาร์เซลล์จากจีนไปสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากมีมาตรการปกป้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) ด้วยการเก็บภาษีเพิ่ม ทำให้แผงโซลาร์เซลล์จากจีนไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในสหรัฐได้

นอกจากนี้ ตลาดโซลาร์เซลล์ทั้งในยุโรปและญี่ปุ่นในขณะนี้ถือว่าอิ่มตัวแล้ว ขณะที่ไทยยังมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันเพียงร้อยละ 6-7 เท่านั้น แต่คาดว่าในปี 2561 นี้จะขยายตัวมากถึงร้อยละ 15-20 ได้

จูงใจติดตั้งให้ก่อนจ่ายทีหลัง

และจากความต้องการของตลาด ทำให้มีการออกแบบการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจูงใจมากขึ้น โดยผู้รับติดตั้งจะลงทุนติดตั้งให้ก่อน จากนั้นให้นำส่วนลดค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้มาคืนเงินต้นแทน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักลงทุนไทยที่ร่วมมือกับนักลงทุนจากเยอรมนี ที่มาจากธุรกิจลีสซิ่ง ก่อตั้ง “บริษัท ไฟฟ้าเอกชน จำกัด” รูปแบบคล้ายคลึงกัน แต่จะเน้นที่ตลาดบ้านอยู่อาศัยที่อยู่ห่างไกล และสายส่งไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นระบบ off grid หรือผลิตไว้ใช้เองเท่านั้น ความแตกต่างจะอยู่ตรงที่นอกจากจะให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้ว ยังให้บริการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตด้วย ซึ่งช่วงไตรมาส 2 ปีนี้จะเปิดตัวเป็นทางการ และมีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอนาคต

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัทที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในกลุ่มโมเดิร์นเทรด อาทิ บจ.โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ บมจ.โซลาร์ตรอน บจ.โซลาร์ ดี บจ.อิเรเดี๊ยน โซล่า บจ.ดราก้อนเอ็นเนอร์จี บจ.เอมไพน์โซล่า บจ.บ้านโซลาร์เซลล์ บจ.โซล่า เอ็กเพรส บจ.ดีเทคโซลาร์ บจ.นิวเพาเวอร์ ซีสเท็ม (เอเชีย)

และชมรมช่าง เร็วๆ นี้ จะมีการจัดงานมหกรรมเทคโนโลยีพลังงานที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย หรือ SETA 2018 (SUSTAINABLE ENERGY TECHNOLOGY ASIA) ระหว่าง 21-23 มี.ค. 2561 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานจะมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากทั่วโลกด้านพลังงาน ภายใต้แนวคิด “การใช้นวัตกรรมดิจิทัล เพื่อพลังงานที่ยั่งยืน” และจัดแคมเปญสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟ พร้อมสินเชื่อพลังงาน และมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอไปให้บริการด้วย