ชลประทาน เดินหน้าแผนส่งน้ำฤดูแล้ง ปริมาณน้ำทั้งประเทศยังเกิน 60% ของความจุ

ชป.เดินหน้าแผนส่งน้ำฤดูแล้ง ปริมาณน้ำทั้งประเทศยังเกิน 60% ของความจุ ปลูกข้าวนาปรังแล้ว 97% ของแผน เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ฝนตก 3-6 เม.ย. 66 ภาคเหนือ-อีสานตั้งรับ

วันที่ 3 เมษายน 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 10/2566 ผ่านทางระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ปัจจุบัน (3 เม.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 48,219 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างรวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,810 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างรวมกัน

Advertisment

ในขณะที่มีการใช้น้ำทั้งประเทศไปแล้วกว่า 21,226 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 ของแผน (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 7,655 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของแผน (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.14 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 97 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.37 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. 66 ลมตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจเกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้

นอกจากนี้ ยังได้มีการคาดการณ์ในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พบว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดฝนทิ้งช่วง ด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลให้ปริมาณฝนในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการตาม 5 มาตรการหลัก อาทิ 1.บริหารจัดการน้ำเพื่อให้น้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี 2.บริหารน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3.ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก

4.เก็บกักน้ำในอ่างให้มากที่สุด 5.วางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันภัยทางน้ำ โดยเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสภาพอากาศและสภาพฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนที่จะถึง เน้นย้ำให้ทุกโครงการวางแผนกักเก็บน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคตให้มากที่สุด รวมถึงสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือในการกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ

Advertisment

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกร งดทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 เพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ที่สำคัญเพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตให้มากที่สุดด้วย