ยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ ย้ำสาเหตุปม ป.ป.ช. ชี้มูล ผ่านมา 10 ปี

ยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ ย้ำสาเหตุปม ป.ป.ช. ชี้มูล ผ่านมา 10 ปี

ยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ย้ำยังมึนงง ปม ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด ผลิตข้าวถุง อ.ต.ก. หลังผ่านมา 10 ปี

วันที่ 16 เมษายน 2566 นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าตามที่ผมได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับกรณีที่มีข่าวหลุดหรือข่าวปล่อย (โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ) เมื่อ 10 เม.ย. ว่าผมและพวกถูก ป.ป.ช. ชี้มูลกรณีข้าวถุง อ.ต.ก. นั้น ปรากฏว่าญาติมิตรจำนวนมากต่างก็บอกว่าทำให้เข้าใจกรณีดังกล่าวได้ชัดเจนมากจนคลายกังวลไปได้ และตั้งคำถามย้อนกลับไปถึงต้นตอหรือสาเหตุที่ผมและพวกที่ถูกไต่สวนชี้มูล

โดยถามว่าทำไม ป.ป.ช. เพิ่งมาชี้มูลหลังเกิดมูลเหตุกว่า 10 ปี (เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2555) และทำไมจึงชี้มูลเฉพาะเลขา กขช. และผู้ช่วยเลขาฯ กขช. และผู้บริหาร อ.ต.ก. บางคนเท่านั้น

อะไรคือมูลเหตุการไต่สวนและชี้มูล

ผมเองก็ประหลาดใจและมึนงงมาก ผมจึงได้แต่คาดเดาแบบไม่ฟันธง ว่าอาจเป็นไปได้ว่ามี 2 มูลเหตุดังนี้

1) ป.ป.ช. อาจเพิ่งได้พยานหลักฐาน เช่น เจ้าของโกดังข้าวใหม่ที่สูญเสียรายได้คือค่าเช่าโกดังจาก อ.ต.ก. (อาจมาให้ข้อมูล ป.ป.ช. เกี่ยวกับคุณภาพข้าวเก่า) และเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก. ที่ถูกไต่สวน (ต้องการหลุดคดี) ซึ่งน่าคิดว่าพยานหลักฐานเหล่านี้น่าเชื่อถือหรือไม่

2) อาจเป็นวาระซ่อนเร้นทางการเมืองผสมเรื่องอาฆาตพยาบาทส่วนตัวของกรรมการ ป.ป.ช. บางคน (เน้นว่าบางคน ไม่ใช่กรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะหรือส่วนใหญ่) อาจมีสาเหตุโกรธเคืองและอาจเข้าใจผิดว่าเลขาและผู้ช่วยเลขาฯ กขช. เป็นพวกรัฐบาลเก่าที่เขาเห็นว่าเคยกีดกันหรือเป็นผู้สร้างปัญหาเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวของเขาซึ่งเป็นอุปสรรคในการสมัครเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กรบางแห่ง จึงทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าเป็นการชี้มูลตามกระแสการเมืองหรือไม่

(ผมขอเน้นว่าทั้ง 2 มูลเหตุนี้เป็นเพียงการคาดเดาของผมเองจึงไม่กล้ายืนยันว่าเป็นความจริงหรือไม่)

การอนุมัติให้เปลี่ยนข้าวบรรจุถุงไม่ทำให้รัฐเสียหาย

แต่ประเด็นที่ผมคิดไม่ออกจริง ๆ คือ คณะกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ใช้ตรรกะและหลักกฏหมายอะไรมาชี้มูลผมและพวกว่าทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคม เพราะการอนุมัติให้ อ.ต.ก. เปลี่ยนจากข้าวเก่าเป็นข้าวใหม่ไปบรรจุถุงเพื่อสำรองไว้แจกให้ผู้ประสบภัย วิธีปฏิบัติก็ง่าย ๆ ตรงไปตรงมาคือ อ.ต.ก. ไปว่าจ้างให้บรรจุถุง เมื่อบรรจุเสร็จก็ส่งมอบคืนให้ อ.ต.ก. เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาจัดสรรหรือมอบให้หน่วยงานต่าง ๆทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายการเมือง เช่น ส.ส. ส.ว. ที่มาขอเบิกไปแจกจ่ายให้ประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งก็มีหลักเกณฑ์กำหนดให้ตามความจำเป็น

ดังนั้น ข้าวถุงที่ได้รับอนุมัติให้ อ.ต.ก. หรือ อคส. ไปบรรจุถุงก็ยังคงเป็นทรัพย์สินของรัฐที่รัฐมีกรรมสิทธิ์โดยให้ อ.ต.ก. และ อคส. ครอบครองแทนยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วนไม่ได้สูญเสียมูลค่าหรือสูญหายไปไหนหากแต่เพิ่มมูลค่ามากขึ้นเพราะมีการปรับปรุงคุณภาพก่อนบรรจุถุง และการนำข้าวถุงของรัฐไปแจกให้ประชาชนผู้ประสบภัยเป็นหน้าที่หรือภารกิจสำคัญของรัฐ ไม่ใช่การทำธุรกิจที่จะคิดว่าทำให้รัฐขาดทุน จึงไม่มีความเสียหายแต่อย่างใด

และนอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฏหมายหรือระเบียบใด ๆ ที่กำหนดว่าจะต้องนำข้าวหรืออาหารสิ่งของที่ต้นทุนต่ำที่สุดไปแจกให้ผู้ประสบภัย

ความจริงแล้วการที่รัฐนำข้าวในสต๊อกรัฐบาลไปบรรจุถุงเพื่อแจกให้ผู้ประสบภัยก็ยังเป็นประหยัดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายมากกว่าให้หน่วยงานไปซื้อข้าวถุงและสิ่งของจากเอกชนไปแจกเพราะประหยัดค่าวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทุนหลักชัด ๆ อยู่แล้ว

ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะผิดปรกติหลายส่วนทั้งขั้นตอนการไต่สวน การวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฏหมาย การตั้งคณะกรรมการไต่สวน การเลือกเป้าชี้มูลบางคน และช่วงเวลาชี้มูลในขณะที่การต่อสู้ทางการเมืองกำลังเข้มข้น

จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่ากรณีนี้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้กล่าวหาน่าจะถูกวินิจฉัยว่ากระทำผิดตามมาตรา 157 มากกว่ากัน