ญี่ปุ่น ขอบคุณไทย EEC คือโอกาสลงทุน เเนะลงทุนวิจัยเพิ่ม “อุตตม” เชื่อคือตัวดันศก.ก้าวกระโดด

นายสแตนลี่ย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เปิดเผยในงานสัมมนา Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นโครงการในอนาคตที่สำคัญของไทย จากความได้เปรียบเรื่องที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทำให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมโยงพื้นที่ EEC และโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อในภูมิภาคยัง CLMV ได้ แต่ไทยจะต้องเร่งสปีดให้เร็วกว่านี้ เพื่อรองรับแนวโน้มเทคโนโลยีในอนาคต เช่น เทคโนโลยี 5Gรวมถึงการสร้างมูลค่าสินค้าในภาคอุตสาหกรรมและบริการ เพื่อต่อยอดซัพพลายเชน

นายอิซาโอะ คุโรดะ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) เปิดเผยว่า ขอบคุณและพอใจกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลไทยที่จะเชื่อมต่อภูมิภาคได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่จะต้องพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้มากขึ้น โดยต่อยอดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและระดับโรงเรียนเข้าด้วยกัน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต ว่า ศักยภาพของประเทศไทยที่จะก้าวไปสู่การเติบโตที่ก้าวกระโดด ท่ามกลางความผันผวนจากนอกประเทศ จะต้องปรับเปลี่ยนและสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งตามที่รัฐบาลดำเนินการมาตลอดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเส้นทางรถไฟความเร็วสูง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม การสร้างความสมดุลให้เศรษฐกิจในประเทศ โดยหันมาเน้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้มากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และด้านการเกษตรด้วย นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่ 1.แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ 2.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อให้พ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง 3.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และ 4.รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผ่านสภาฯ แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการใช้บังคับมีผลตามกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าพ.ร.บ.จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมามีนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กว่า 300,000 ล้านบาท นอกจากนี้แล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ก็มีผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนฯ ในระดับหมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นการต่อยอดขีดความสามารถ ตั้งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ ระบบควบคุม”