ค่าการตลาดน้ำมัน 2 บาท/ลิตรไม่มีจริง รายจ่ายที่คนไทยต้องเสีย 5 เดือน 300 ล้าน

น้ำมัน เติมน้ำมัน ราคาน้ำมัน การเดินทาง

ประเด็นร้อนค่าไฟฟ้ายังไม่ทันจางก็ปรากฏประเด็นใหม่ “ค่าการตลาดน้ำมัน” ขึ้นมาอีกครั้ง อีกทั้งในวันที่ 21 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ กระทรวงการคลังประกาศไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร

คาดว่าส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคในประเทศ และกระทบต่อค่าครองชีพที่อาจเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องออกแถลงการณ์ล่าสุด เรียกร้อง 3 ข้อ

คือ ภาครัฐบาลต้องประกาศเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมให้เป็นมาตรการบังคับ พร้อมทั้งให้เปิดเผยต่อสาธารณะและตรวจสอบได้ และต้องทบทวนนโยบายการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแบบไร้การควบคุม

สถานการณ์ค่าการตลาด

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกของประเทศไทยอยู่ภายใต้นโยบายกึ่งลอยตัวกึ่งควบคุมราคา โดยปัจจุบัน รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตร ส่วนราคาในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นการกำหนดราคาจากฝั่งผู้ประกอบการ โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย

ประกอบด้วยราคา ณ โรงกลั่นหรือต้นทุนเนื้อน้ำมัน เงินภาษีที่ภาครัฐเก็บที่มีทั้งส่วนของภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีกองทุนน้ำมัน รวมถึงค่าการตลาด คือ ค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคต้องเสียเข้าไปในราคาน้ำมัน เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายและกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ รวมถึงการให้บริการของสถานีน้ำมัน

โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะเป็นผู้พิจารณาเกณฑ์ “ค่าการตลาดที่เหมาะสม” เพื่อขอความร่วมมือกับผู้ประกอบ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะติดตามการเคลื่อนไหวเพื่อใช้ปรับเปลี่ยนราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละประเภท

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน วันที่ 9 มีนาคม 2563 กบง.มีมติเห็นชอบกำหนดค่าการตลาดที่เหมาะสมไว้ที่ 2 บาทต่อลิตร โดยแบ่งตามประเภทของผลิตภัณฑ์

อาทิ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ราคาเฉลี่ยที่ 2 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซล B7 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.65 บาทต่อลิตร ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2564 กบง.เห็นชอบปรับลดค่าการตลาดเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร และขยายระยะเวลาจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566

กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ก่อนจะสิ้นสุดมาตรการ กบง.ได้มีมติเห็นชอบปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมให้กลับเป็นเหมือนมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 โดยกลุ่มเบนซินเฉลี่ยที่ 2 บาทต่อลิตร โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 แต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้เพิ่มค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลขึ้นจาก 1.40 บาท เป็น 1.80 บาทต่อลิตร

โดยอ้างว่าเพื่อให้ผลิตภัณฑ์น้ำมันทุกประเภทสามารถอยู่ในกรอบราคา 2 บาทต่อลิตรได้ รวมถึงกระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเบนซินโดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 95 ที่จะเป็นตัววัดว่า ถ้าเกณฑ์การตลาดเกิดกว่า 2 บาทต่อลิตร ให้ปรับราคาน้ำมันลงมา แต่หากต่ำกว่า 2 บาทต่อลิตร ทางผู้ประกอบการมีความชอบธรรมในการปรับราคาขายปลีกของกลุ่มเบนซินได้ เช่นเดียวกับกลุ่มดีเซล

แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากราคาน้ำมันตลาดโลกราคาพุ่งสูงขึ้น ที่ 32 บาทต่อลิตร ทางรัฐบาลจึงใช้เกณฑ์ว่า หากราคาค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลสูงกว่า 1.40 บาท เรียกเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯเพิ่ม แต่ถ้าหากว่าต่ำกว่า 1.40 บาทต่อลิตร

ทางกองทุนน้ำมันฯจะคืนเงินให้ทางผู้ประกอบการ ทำให้ “ราคาขายปลีกของดีเซลไม่ปรับเปลี่ยน” แม้ว่าราคาตลาดโลกจะลดลง

ค่าการตลาดที่เหมาะสมจริงหรือ

หลังการกำหนดประกาศเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสม ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค สำรวจค่าการตลาด ตั้งแต่ เดือนมกราคา-พฤษภาคม 2566 โดยอ้างอิงจากราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งเป็นชนิดน้ำมันที่มีการใช้มากที่สุด พบว่า มีค่าการตลาดเฉลี่ยแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 3.29 บาทต่อลิตร สูงกว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมกำหนดไว้ที่ 2 บาทต่อลิตร

ขณะที่กลุ่มดีเซล ซึ่งกำหนดค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร แต่ปรากฏว่าค่าการตลาดเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม สูงถึง 1.66 บาทต่อลิตร รวมถึงหลังวันที่ 31 มีนาคม 2566 รัฐบาลได้มีการปรับราคาค่าการตลาดที่เหมาะสมขึ้นเป็น 1.80 บาทต่อลิตร แต่ค่าการตลาดเฉลี่ยในเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม ยังอยู่ที่ 1.98 บาทต่อลิตร สูงกว่าถึง 0.18 บาทต่อลิตร

เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าการตลาดเฉลี่ยในตลาด สูงกว่าค่าการตลาดที่ทาง กบง.ขอความร่วมมือ ประกอบกับการปรับเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯไม่ได้ปรับขึ้นตามค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ “ผลประโยชน์” ไปอยู่กับกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมัน ทั้งที่ควรนำเงินส่วนต่างดังกล่าวมาทำเป็นลดราคาน้ำมันขายปลีกให้แก่ประชาชน

การปรับราคาดีเซล-เบนซิล ม.ค.-พ.ค.

เมื่อพิจารณาถึงการปรับราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลและเบนซิน พบว่า ในช่วง 5 เดือนแรก กลุ่มดีเซลยังถูกตรึงราคาไว้ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตรซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการขึ้น-ลงแล้ว พบว่า ภาพรวมราคาจำหน่ายดีเซลช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ลดลง 3 บาต่อลิตร ส่วนราคากลุ่มเบนซินมีส่วนต่างราคา ลดลงเพียง 0.50 บาท ซึ่งปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ยที่ 70 ล้านลิตร ส่วนเบนซินอยู่ที่ 30 ล้านลิตร

เมื่อนำมาคำนวณ จะพบว่ามูลค่าการเงินที่ประชาชนต้องเสียไปจากการค่าการตลาดที่ไม่เป็นธรรม ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 สูงเกือบ 300 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าการตลาดส่วนเกินเบนซินรวม 193.2 ล้านบาท และค่าการตลาดส่วนเกินของผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันดีเซลรวมอยู่ที่ 101.5 ล้านบาท

ไม่เพียงเงินส่วนต่างของค่าการตลาดที่ทรงตัวสูง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับส่วนลดราคาน้ำมันแล้ว แล้วนั่นยังทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในภาพรวมของประเทศไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานของประเทศด้วย ซึ่งประเด็นนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องเข้ามาดูแล

ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่

ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ระบบการคิดโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบันเรียกว่า โครงสร้างของการรีดนาทาเร้นประชาชน จึงขอฝากรัฐบาลใหม่ว่า กรุณาเข้ามาทำให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องค่าการตลาดให้ดำเนินตามที่ตกลงกันไว้

“ประเด็นเรื่องการไม่ต่ออายุมาตราการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท ซึ่งอาจส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดีเซลไทยพุ่งขึ้นเท่ากับประเทศลาวที่ 37.32 บาทต่อลิตร ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันให้ลาว เวียดนาม กัมพูชาแต่ราคาสูงกว่า ซึ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะดีเซลเป็นน้ำมันที่มีผลเชื่อมโยงถึงสินค้าอุปโภคบริโภค หากราคาสูงจะกระทบต่อราคาสินค้าค่าครองชีพของประชาชน

ดังนั้น รัฐบาลต้องพิจารณาความเหมาะสมของโครงสร้างราคาน้ำมัน ลดการเอาเปรียบ และยกผลประโยชน์แก่เอกชนมากเกินไป ตลอดจนการควบคุมราคาดีเซลให้อยู่ไม่เกินราคา 30 บาทต่อลิตร”

ส่วนประเด็นการกำหนดราคาค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันในกลุ่มดีเซลที่ 1.65 บาทต่อลิตร และกลุ่มเบนซินเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร แต่ปรากฏว่าในช่วงโควิด-19 รัฐบาลกลับทำให้ค่าการตลาดสูงขึ้น จากที่รัฐประกาศเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า

จะให้ค่าการตลาดกลับไปตามเดิมเท่ากับปี 2563 เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกดีขึ้นแล้ว โดยให้กลุ่มเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตรและกลุ่มดีเซลเฉลี่ยที่ 1.80 บาทต่อลิตร ทั้ง ๆ ที่ในปี 2563 ราคาดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 1.65 บาทต่อลิตร ซึ่ง กบง.มักย้ำเสมอว่าเป็นการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมัน

สภาผู้บริโภคถึงรัฐบาลใหม่-เก่า

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การปรับลดราคาน้ำมันขายปลีกน้อยกว่าที่ควรจะเป็น สะท้อนถึงความล้มเหลวในนโยบายปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาล โดยเฉพาะในกลุ่มเบนซิน

โดยรัฐขาดประสิทธิภาพในการติดตาม กำกับดูแล และปรับเปลี่ยนราคาน้ำมัน ไม่สอดคล้องกับทิศทางกลไกราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จนเกิดการเอารัดเอาเปรียบกับผู้ใช้น้ำมัน

“สภาองค์กรของผู้บริโภคประมาณการว่า เฉพาะในช่วง 5 เดือนแรก ผู้ใช้น้ำมันทั้งกลุ่มเบนซินและกลุ่มดีเซลต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจะจ่ายให้กับค่าการตลาดน้ำมันที่ไม่เป็นธรรมเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ ทุกข์ของผู้บริอโภคและประชาชนไม่สามารถรอได้”

แถลงการณ์ฉบับนี้มีขึ้นเพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลรักษาการและรัฐบาลใหม่ในอนาคตขอให้ความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมัน โดยเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ทางสภาองค์กรณ์ผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับกรณีที่กระทรวงการคลังจะไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งจะสิ้นสุดลงวันที่ 21 กรกฎาคม นี้

โดยเห็นว่าการขึ้นภาษีเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควรต่อมาการเก็บภาษีรัฐบาลรัฐบาลควรคำนึงว่า การเก็บภาษีน้ำมันดีเซลที่สูงเกินไปกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลควรหาแนวทางให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร