CPF ตั้งการ์ดรับ “เอลนีโญ” หวั่น “แล้ง” กระทบอาหารขาดแคลน

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

ท่ามกลางภาวะความท้าทายจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% แต่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ยังสามารถประคองรายได้ในไตรมาส 1 ให้เติบโต 4% กว่า 1.4 แสนล้าน นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย มาถึงในไตรมาส 2 CPF ยังคงต้องรักษาโมเมนตัมสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจต่อไปให้ได้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ยังคงยืนยันว่าภาพรวมรายได้ซีพีเอฟปีนี้จะขยายตัว 7-8% จากปี 2565 หรือมูลค่าประมาณ 6.1-6.2 แสนล้านบาท

ความท้าทาย “ต้นทุน” ยังสูง

แนวโน้มครึ่งปีหลังภาวะต้นทุนการผลิตยังนับเป็นความท้าทายต่อเนื่อง เพราะจากที่เคยคาดว่าราคาวัตถุดิบน่าจะลงในช่วงไตรมาส 2 แต่เมื่อมีการประเมินแนวโน้มจะเกิดเอลนีโญ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลก

ก่อนหน้านี้ บริษัทเผชิญภาวะต้นทุนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการผลิตเกือบ 20-30% จากต้นทุนราคาข้าวโพดเพิ่มจาก 9 ไปเป็น 13 บาท/กก. หรือประมาณ 35% ไม่รวมค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นอีก 30% แต่มองว่ารัฐน่าจะหากรรมวิธีปรับแก้เรื่องต้นทุนพลังงานได้ แนวโน้มค่าไฟในงวดที่ 3 น่าจะปรับลดลง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนได้ ดังนั้น ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับราคาสินค้า

ขณะที่นโยบายค่าแรง 450 บาท ที่พรรคก้าวไกลใช้ในการหาเสียงไว้ เท่าที่ทราบในขณะนี้ทางพรรคได้มีการหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ 2-3 แห่ง ซึ่งในทางปฏิบัติคงต้องปรับให้เหมาะสม

“ทุกคนต่างก็ส่งเสียงสะท้อนออกมาหมดว่าอยู่ไม่ไหว จะเดือดร้อนไปหมดทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ ตอนนี้ตามจริงต้องบอกว่า pricing แย่มาก หืดขึ้นคอ ซึ่งเป็นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทั้งในยุโรปและอเมริกาที่เศรษฐกิจถดถอย ซีพีเอฟยังสามารถรักษา (maintain) ตลาดไว้ได้ ขอเพียงไม่ได้ใส่ปัจจัยที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมาอีก”

กางแผนตั้งรับ “เอลนีโญ”

สำหรับการตั้งรับเอลนีโญที่อาจจะมีผลกระทบต่อซัพพลายเชนหากลากยาวนั้น ทางซีพีเอฟได้เตรียมพร้อมไว้ 2 ด้าน คือ ภายในบริษัทได้ปรับปรุงเรื่องการใช้น้ำ โดยส่งเสริมให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่ทำมานานกว่า 15 ปีแล้ว ทุกสัปดาห์มีการประชุมกันถึงแผนการลดการใช้น้ำให้ เช่น อุตสาหกรรมไก่สามารถใช้น้ำน้อยกว่ามาตรฐาน 40%

ขณะเดียวกันยังมีส่งเสริมการบำบัดน้ำเสียและนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) ในสถานที่ต่าง ๆ ให้เหมาะสม เช่น น้ำจากฟาร์มหมู ซึ่งนำมาหมุนเวียนใช้ในระบบปลูกต้นไม้ เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็มีแผนสำรองด้วย แม้ว่าจะไม่เคยเกิดเอลนีโญ่ชัดเจน แต่ก็มีแนวโน้มจะเกิดหลายปีแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น ก่อนโควิดที่จะมีการถามว่าน้ำพอไหม ซึ่งบริษัทต้องคอยเช็กตลอด คือ นมเมจิ เป็นสินค้าต้องใช้น้ำเยอะ จึงทำแหล่งเก็บน้ำสำรอง มีการขุดบ่อรองรับน้ำพอสมควร

“เรื่องการเตรียมพร้อมวัตถุดิบในซัพพลายเชนที่อาจจะมีราคาสูงขึ้น ทาง CPF Global มีโรงงานในหลายประเทศ จึงสามารถกระจายการรับซื้อวัตถุดิบจากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบาลานซ์ไปได้ หรืออีกด้านหนึ่งยังมองหาวัตถุดิบอื่นมาทดแทน เช่น ข้าว หัวมันสำปะหลัง หากถึงขั้นนั้นก็สามารถปรับสูตรอาหารได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีปัญหารุนแรงขนาดนั้น”

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งจะเริ่มเห็นว่าสถานการณ์เอลนีโญทำให้ลูกค้าบางประเทศ ต้องการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้น จึงได้ขอปรับระยะเวลาการทำสัญญายาวขึ้น เช่น ญี่ปุ่น จากเดิมที่ทำสัญญาซื้อขาย 3 เดือน เป็น 6 เดือน หรือบางรายขอปรับเป็นรายปี

เพราะนอกจากเอลนีโญแล้ว ยังมีเรื่องโรคระบาดสัตว์ เช่น ไข้หวัดนกที่พบที่บราซิล ไต้หวัน และญี่ปุ่น ระบาดแรงขึ้น ทำให้ลูกค้ามองว่า supply แกว่ง บางรายเริ่มคิดที่จะทำแผนรายปี เพื่อความมั่นคง

ปั้นแบรนด์ “CP Authentic Asia”

นายประสิทธิ์กล่าวอีกว่า ในช่วงครึ่งปีหลังมีแผนจะทำตลาดส่งออกด้วยแบรนด์สินค้า “CP Authentic Asia” มากขึ้น เพราะปัจจุบันอาหารไทยนับเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมและมีระดับราคาพรีเมี่ยมมากในต่างประเทศ แต่ลักษณะอาหารไทยที่ไปนั้นจะเป็นอาหารอเมริกันรสชาติไทยเสียมากกว่า ดังนั้นจึงต้องการผลักดันสินค้าอาหารเอเชียที่ชูเอกลักษณ์ความเป็นเอเชียเข้าไปในตลาด

“เรื่องนี้เกิดจากว่า เมื่อเราไปที่อเมริกา อาหารที่พรีเมี่ยมมากสุด ๆ คืออาหารไทย ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่เป็นร้านหรู Thai cuisine มากขึ้น ขณะที่ร้านอาหารญี่ปุ่นจะดูกึ่ง ๆ mini fast-food ส่วนอาหารไทยจะมีลักษณะเป็น Thai cuisine มากยิ่งขึ้น ช่วงหลังทางอเมริกาจึงอยากได้แบบแท้ ๆ จากเอเชีย

ประเด็นที่แตกต่างคือเรื่องรสชาติ เดิมอาหารไทยรสชาติอเมริกัน อาหารอเมริกันรสชาติไทย ตอนนี้จะกลายเป็นอาหารไทยรสชาติไทยจริง ๆ จึงขยายไปเมืองนอก จะใช้ตัว CP Authentic Asia เป็นแบรนด์ที่ไปเมืองนอกมากยิ่งขึ้น”

แบรนด์ “CP Authentic Asia” เป็นแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว ไปในต่างประเทศ แต่ต่อไปในการส่งออกจะชูแบรนด์นี้ โดยวางแนวทางว่าจะนำเอาสินค้าจากฐานผลิตในเอเชีย ไม่ว่าจะจากจีน ไทย เวียดนาม หรือร่วมกับพันธมิตรพัฒนาอาหารสไตล์เกาหลี หรือจากญี่ปุ่น ส่งออกไปขาย เข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศต่าง ๆ

ตอนนี้ทดลองหลายรายการ เช่น เกี๊ยวกุ้ง ต้มข่าไก่ ผัดขี้เมา ตลาดเป้าหมายคือ สหภาพยุโรป โดยเฉพาะในแถบสแกนดิเนเวีย ขณะที่สหรัฐให้ความนิยมในสินค้าเกี๊ยวกุ้งมาก

“ตอนนี้พระเอกคือ เกี๊ยวกุ้ง ขายดีที่สุดในอเมริกา พอส่งออกไปอเมริกาขึ้นเป็น Top Asian Meal ซึ่งเดิมเกี๊ยวกุ้งเป็นเครื่องเคียง (side dish) แต่ว่าตอนหลังมีการเพิ่มบะหมี่ก็อัพเกรดตัวเองเป็นอาหารจานหลัก (meal) และมี option ให้เลือกทำได้”

รายได้ “ส่งออกเป็ด”

ล่าสุดได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเป็ดไปยังตลาดออสเตรเลีย ตามที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันไว้ คาดว่าทั้งปีนี้จะมีปริมาณการส่งออกเป็ดรวม 500 ตัน เพื่อไปจำหน่ายยังซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้สามารถสร้างรายได้ทั้งปีจากการส่งออกเป็ดไปตลาดนี้ 300-400 ล้านบาท จากภาพรวมของธุรกิจเป็ดที่ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท

“ซีพีเอฟส่งออกเป็ดไปยังหลายประเทศ แต่การส่งออกไปยังออสเตรเลียนับได้ว่ามีความสำคัญมาก เพราะตลาดนี้ถือเป็นตลาดที่มีความเข้มข้นด้านมาตรฐานระดับสูงยิ่งกว่าระดับโลก เพราะด้วยความที่พื้นที่เป็นเกาะต้องเพิ่มความระมัดระวัง บริษัทต้องใช้เวลาทำงานร่วมกันนานเกือบ 8 ปี สร้างความมั่นใจด้านมาตรฐาน

โดยสินค้าเป็ดปรุงสุกที่ส่งออกต้องเลาะกระดูกออกหมดเพื่อป้องกันโรค แต่ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศแรกที่มีความเข้มเรื่องมาตรฐาน ก่อนหน้านี้ บริษัทสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานส่งออกไปเยอรมนีมาเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เข้มเรื่องนี้เช่นกัน”

ฟิลิปปินส์ พิลลาร์หลักใน 5 ปี

ซีอีโอซีพีเอฟเล่าว่า แผนการลงทุนในแต่ละปี บริษัทวางงบฯลงทุนเฉลี่ยปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกใช้งบประมาณลงทุนไป 30% เท่านั้น แต่ในช่วงครึ่งปีหลังซีพีเอฟจะขยายการลงทุนมากขึ้น โดยรีโลเคตไปบางประเทศมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มุ่งไปขยายการลงทุนที่ “ฟิลิปปินส์” เพิ่ม

เพราะเป็นฐานการผลิตที่ลงทุนมานานกว่า 10 ปีแล้ว มีทั้งการเลี้ยงหมู ไข่ ไก่ กุ้ง สามารถสร้างรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท บริษัทมีแผนลงทุนที่ฟิลิปปินส์ ในช่วง 5 ปีนี้ด้วยงบประมาณหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ จะวางให้ “ฟิลิปปินส์” เป็นหนึ่งในพิลลาร์หลักที่สร้างรายได้ให้ CPF รองจากไทย-จีน-เวียดนาม เพื่อจะสร้างรายได้เพิ่มจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 50,000-100,000 ล้านบาท ได้ในอนาคต

“เราเห็นว่าตลาดฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ประชากร 120 ล้านคน ทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น และทางรัฐบาลฟิลิปปินส์เข้าใจและเห็นถึงปัญหาด้านเกษตรดีมาก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเอลนีโญ

เพราะท่านประธานาธิบดียังมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกตำแหน่ง จึงเข้าใจด้านเกษตรเป็นอย่างดี ทางซีพีเอฟได้รับความร่วมมือที่ดี ทั้งรัฐสนับสนุนให้บริษัทเข้าลงทุน 3 ฝ่ายร่วมกันระหว่างรัฐ เกษตรกร และซีพีเอฟ เพิ่มเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร”

ส่วนแผนการขยายการลงทุนในซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศใหม่ ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการเจรจาต่อว่าจะขยายลงทุนด้านใดอย่างไร ซึ่งทางบริษัทมองว่าซาอุฯเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเป็นจุดเริ่มต้นของการบุกตลาดตะวันออกกลาง (Middle East) ทั้งหมด

จากการฉายภาพทั้งหมดนี้ ทำให้ภาพธุรกิจซีพีเอฟครึ่งปีหลังมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้นตามเป้าหมาย ส่วนแผนการรับซื้อหุ้นคืน 200 ล้านหุ้น วงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาทนั้น “ประสิทธิ์” อธิบายว่า “บอร์ดมองว่าหุ้นอาจจะ undervalue ไปสักนิดหนึ่ง จึงซื้อหุ้นกลับมาเพื่อแสดงให้เห็นความมั่นใจ ในฐานะบริษัทเองก็มั่นใจ และเหตุปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นลดลงในช่วงนี้มาจากหลายปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงหวังว่าหลังจากนี้จะค่อยพัฒนาให้ดีขึ้น”