ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯร่วงต่อเนื่องเดือนที่ 2 หวั่นตั้งรัฐบาลใหม่ช้าฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ร่วงต่อเนื่องเดือนที่ 2

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 2566 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 92.5 จาก 95.0 คาดส่อแววลดลงเรื่อย ๆ หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หวั่นตั้งรัฐบาลใหม่ช้าฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนลงอีก

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจผู้ประกอบการจำนวน 1,327 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 92.5 ปรับตัวลดลงจาก 95.0 ในเดือน เม.ย. ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ผลมาจากการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ด้วยสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าลดลง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงผันผวน

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองหลังเลือกตั้งที่ยังไม่แน่นอน และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลดีต่อภาคการส่งออก

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวลดลง จาก 105.0 ในเดือน เม.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวล เกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รวมทั้งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง

ขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร นอกจากนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง อาทิ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพิ่มเสริมสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ การปรับเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อให้มีความยืดหยุ่นขึ้น

2.สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยและช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก

3.เร่งให้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน