บางจาก-ปตท.-BAFS แห่ลงทุนไบโอเจ็ต SAF ลดคาร์บอน

ไบโอเจ็ต

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ถือเป็นภารกิจหลักของทุกธุรกิจ แม้แต่ธุรกิจการบินที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 2.5% ของทั้งหมด แต่ยังมุ่งสู่พลังงานสะอาดเช่นกัน โดยจากข้อกำหนดขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ที่ให้ทั่วโลก ปรับมาใช้น้ำมันเครื่องบินที่มีส่วนผสมจากไบโอ เริ่มในปี 2027 (2570)

ซึ่งหากสายการบินใดไม่ปฏิบัติตามมีโอกาสจะถูกห้ามบิน (แบน) นี่จึงเป็นโอกาสของธุรกิจไทยในการลงทุนผลิต sustainable aviation fuel หรือ SAF หรือ ไบโอเจ็ต คือน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน สามารถใช้วัตถุดิบจากทั้งน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว ไขมันจากสัตว์ ของเสียจากการเกษตรและขยะเทศบาล มาเป็นส่วนผสม และมีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกับน้ำมันเจ็ตที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือ Jet A1

บางจาก-ปตท. เสือปืนไว

ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตน้ำมันต่างทยอยเปิดเผยการลงทุน SAF อย่างคึกคัก เริ่มจากค่าย “บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” ลงนามร่วมทุนกับบริษัท ธนโชค ออย ไลท์ จำกัด ตั้งบริษัท BSGF เพื่อผลิตและจำหน่ายน้ำมัน SAF จาก “น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว” เป็นรายแรกของประเทศไทยไปเมื่อปี 2565 โดยวางงบฯลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย net zero ปี 2050 (พ.ศ. 2593)

ล่าสุด นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน )เตรียมลงนามในพิธีก่อสร้างระหว่าง BSGF บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท Honeywell UOP จากสหรัฐ ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมจำหน่ายในไตรมาส 4 ปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 1 ล้านลิตร

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

ขณะที่ นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ. ปตท. กล่าวว่า ปตท.อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร เพื่อศึกษาโอกาสในการลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทยผลิตไบโอเจ็ตจากกากปาล์มน้ำมัน

โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง 3 โรงกลั่นใน ปตท. บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรจากอินโดนีเซีย เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้ไบโอเจ็ต

โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งเรื่องสถานที่ วงเงินลงทุนในปีนี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 2567 เพื่อให้สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570 ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตสูงกว่า 1 ล้านลิตร

เชื่อมโยงซัพพลายเชน SAF

นางสาวยุภดี ทองอรุณศรี ผู้อำนวยการฝ่ายสถานีบริการน้ำมันดอนเมืองและภูมิภาค เปิดเผยว่า BAFS ร่วมกับทั้งบริษัท บางจาก และบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด ศึกษาและขับเคลื่อนการใช้ SAF พร้อมผลักดันนโยบายและการใช้งานให้เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย

รวมถึงจัดตั้งคณะทำงาน SAF working group เพื่อศึกษาด้านโลจิสติกส์นำส่ง SAF ไปยังสนามบินที่ BAFS ให้บริการ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างเดิมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ผลิตและสายการบิน

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) มองว่า ต้นทุนการผลิต SAF ยังมีราคาแพงกว่าต้นทุนน้ำมันอากาศยานทั่วไปอยู่ 3-5 เท่า เพราะยังกับมีปริมาณการใช้ที่ค่อนข้างน้อยทำให้ราคาค่อนข้างสูง จึงอยากให้มีมาตรการสนับสนุนด้านการกำหนดปริมาณขั้นต่ำที่ต้องผสมเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้

ส่วนอีกเรื่องคือ ยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยานที่ใช้ในเที่ยวบินจะมีการเก็บ ที่ประมาณ 5 บาทต่อลิตร เกือบ 20% ของราคาขาย หากยกเว้นจะช่วยเพิ่มแต้มต่อและขยายโอกาสทางการแข่งขันได้มาก

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล

ดึงโมเดล “สหรัฐ-อียู” มาใช้

นางสาวสุวรรณา ฟักทิม ผู้อำนวยการฝ่ายสถานีบริการจัดเก็บน้ำมันสุวรรณภูมิ BAFS มองว่า ควรมีการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ บริษัทน้ำมัน ผู้ผลิต SAF ในอนาคต สนามบิน สายการบินและหน่วยงานภาครัฐ โดยกำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และสร้างผลประโยชน์ให้อุตสาหกรรมการบินและเกษตรกรในประเทศไทย

โดยศึกษาจากนโยบายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ กำหนดกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนผู้ผลิต โดยให้ภาษีในการผลิตอยู่ที่ 1.75 เหรียญสหรัฐต่อแกลลอน

ส่วนฝั่งยุโรปมีการใช้มาตรการบังคับให้ต้องผสม SAF ลงไปในน้ำมันอากาศยานทั่วไปสัดส่วนอย่างน้อย 2% ในปี 2025 และกำหนดให้เพิ่มเป็น 5% ในปี 2030 จนถึงปี 2050 ที่ต้องผสมอยู่ที่ 60% เพื่อผลักดันการใช้ SAF รวมถึงในประเทศญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าหมายให้สายการบินสัญชาติญี่ปุ่นต้องมีสัดส่วนการใช้ SAF อยู่ที่ 10% ภายในปี 2030

นอกจากนี้ ควรมีนโยบายเอื้อสิทธิประโยชน์แก่สายการบินที่เป็น home based เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ผลักดันให้สายการบินที่มาจอดที่ประเทศไทยสามารถเติมทั้ง SAF และน้ำมันเจ็ตทั่วไป

เตรียมออกแพ็กเกจหนุนลงทุน

นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า SAF เป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ (new business) ที่กรมธุรกิจพลังงานต้องการจะขับคลื่อนตามแผนของแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (oil plan)

โดยกรมธุรกิจพลังงานกำลังหารือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีเป้าหมายการใช้ SAF อยู่ที่ 1% ภายในปี 2570 เช่นเดียวกับทางยุโรป ซึ่งทางกรมธุรกิจพลังงานจึงมีแผนการจะหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ตั้งเป็นคณะทำงาน เพื่อวางแนวทางในการออกแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุน

ตาราง น้ำมันเครื่องบิน

“ทิศทางการลงทุนผลิต SAF ของประเทศ มองถึงการใช้วัตถุดิบในประเทศในช่วง 5 ปีแรกก่อน ซึ่งเบื้องต้นอาจเป็นน้ำมันพืชใช้แล้ว และเอทานอลจากกากน้ำตาล ปัจจุบันมีนักลงทุนสนใจลงทุน SAF อยู่ 2-3 ราย

ซึ่งต้องพิจารณาช่วยเหลือมาตรการสนับสนุนราคาวัตถุดิบในกรณีที่ต้องต้องนำเข้า หรืออาจมีการใช้มาตรการราคามาช่วยกรณีที่ผลิตในประเทศ นอกจากนี้ต้องมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ผลิต SAF ด้วย ซึ่งอีก 2 เดือนข้างหน้าจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

ช่วยลดคาร์บอนการบิน 65%

นางสาวสุวรรณา เปิดเผยว่า SAF เป็นหนทางสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการบินที่ช่วยบรรลุเป้าหมายเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 เพราะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบินได้มากถึง 65% หรือ 450 ล้านลิตร ในปี 2050

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าการผลิต SAF จะเป็นหนทางสำคัญที่ช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 เพราะ SAF สามารถใช้วัตถุดิบจากทั้งน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว ไขมันจากสัตว์ ของเสียจากการเกษตรและขยะเทศบาล เช่น บรรจุภัณฑ์ และเศษอาหาร ขยะพลาสติก แทนการฝังกลบหรือเผาทิ้ง

โดยมีสัดส่วนการผลิตผสมที่อัตราส่วน 50 : 50 ใช้หลักการเดียวกับการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซิน หรือการผสมไบโอดีเซลในดีเซล ทำให้ SAF สามารถใช้ในเครื่องบินได้โดยไม่ต้องปรับปรุงเครื่องยนต์ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเจ็ตจากฟอสซิล

นี่จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยในอนาคต และยิ่งการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาหลังโควิดความต้องการน้ำมัน JET พุ่งขึ้นเกือบ 100% (กราฟิก) การใช้น้ำมันไบโอเจ็ตก็จะต้องเพิ่มตาม ใครลงทุนก่อนน่าจะคว้าโอกาสได้ก่อน