Mr.ไก่-ไข่เร่งแก้ปมราคา ลดนำเข้าปู่ย่าพ่อแม่พันธุ์

“สมชวน” Mr.ไก่เนื้อ-ไก่ไข่ เดินหน้าแก้ปมราคาไข่ไก่ให้มีเสถียรภาพ พร้อมเร่งยกระดับมาตรฐานสินค้าไก่ ไร้สารเร่งการเจริญเติบโต ปลอดยาปฏิชีวนะตกค้าง

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์และโฆษกกรมปศุสัตว์ ในฐานะ “Mr.ไก่เนื้อและไก่ไข่” เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ไก่เนื้อและไก่ไข่ เพื่อเป็นเครื่องมือวางแผนการผลิต และเตือนภัยแก่เกษตรกร ขณะเดียวกันจะเร่งประสานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสมาคมผู้เลี้ยง เกษตรกรผู้เลี้ยง ภาคเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป

“การแก้ปัญหาเชิงรุกที่ทีมงานกำลังเร่งดำเนินการนี้ นอกจากการแก้ปัญหาในระยะสั้นเพื่อลดผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำแล้ว ยังบูรณาการการทำงานทั้งระบบ ด้วยการจัดระบบฐานข้อมูลทุกขั้นตอน ตลอดสายการผลิตจนถึงการตลาด พร้อมทั้งนำกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องมาควบคุมกำกับดูแล เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว เป็นรูปธรรม และยั่งยืนอย่างแท้จริง”

ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (Egg Board) มีมติให้ทุกบริษัทลดการนำเข้าปู่ย่าและพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ในปี 2561 ตามสัดส่วนให้เหลือปู่ย่าพันธุ์(GP) ปีละ 5,500 ตัว พ่อแม่พันธุ์(PS) ปีละ 550,000 ตัว พร้อมกับให้เกษตรกรและสมาคมเร่งปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงเพื่อลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรง ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังดำเนินการสนับสนุนกิจกรรมของคณะกรรมการโครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ 300 ฟอง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคไข่ไก่ที่เป็นสุดยอดแหล่งโปรตีนสามารถรับประทานได้ทุกวัน เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย และมีราคาไม่แพง

นอกจากนี้ มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าทั้ง 2 ชนิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์ของไทยที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ต้องปลอดภัย ปลอดสาร ไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ตามลำดับ โดยมีประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยในอาหารของผู้บริโภคมาโดยตลอด ด้วยการมอบหมายให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ทำหน้าที่ดูแลการใช้ยา เฝ้าระวังและสุ่มตรวจฮอร์โมนและสารตกค้างในเนื้อสัตว์ปีกเป็นประจำ จากรายงานของสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ในช่วงปี 2553-2560 ที่มีการสุ่มตัวอย่างสัตว์ปีก 2,543 ตัวอย่าง ไม่เคยพบฮอร์โมนตกค้างแม้แต่ตัวอย่างเดียว ที่สำคัญไทยยังได้รับข่าวดีจากสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากหน่วยงาน CNCA ได้ประกาศรับรองโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้แช่แข็งสัตว์ปีกของไทยเป็นครั้งแรก จำนวน 7 โรงงาน