ชาวสวนไทยรุกปลูก “มูซานคิง” ราชาทุเรียนมาเลเซียส่งออกปักกิ่ง

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลุยตลาดซินฟาตี้ ปักกิ่ง ติดตามสถานการณ์การค้าผลไม้ไทย ย้ำภาพผลไม้ไทย “ทุเรียน” ครองแชมป์ผลไม้ยอดนิยม ล่าสุดไทยเกษตรกรไทยรุกปลูก “มูซานคิง”ราชาผลไม้มาเลเซียส่งออกจีน

วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและโฆษกกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่ง และคณะ เดินทางเข้าพบผู้จัดการทั่วไปบริษัทซินฟาตี้ (Xinfadi) และทีมงานเพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานและติดตามสถานการณ์การค้าผลไม้ของไทย ณ ตลาดซินฟาตี้ ปักกิ่ง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญทางตอนเหนือของจีน

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือสถานการณ์การค้าผลไม้ของไทยและแนวทางในการขยายผลไม้ไทยในของตลาดซินฟ้าตี้ โดย นายจาง เยว่ หลิน (Zhang Yuelin) ผู้จัดการทั่วไปของตลาดซินฟาตี้ กล่าวว่า ผลไม้ไทยครองตำแหน่งผลไม้ยอดนิยมในจีน และผู้บริโภคจีนให้ความสนใจมากที่สุดโดยเฉพาะทุเรียนไทย และทางตลาดซินฟาตี้ได้วางแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ผลไม้นานาชาติ และศูนย์ทุเรียนไทย เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคชาวจีนได้เข้าถึงตลาดได้มากยิ่งขึ้น โดยศูนย์ผลไม้นานาชาตินี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งยังมีแผนจัดเทศกาลผลไม้ในช่วงเดือนสิงหาคมเพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

“ขอขอบคุณตลาดซินฟาตี้ที่มีส่วนทำให้ผลไม้ไทยขยายช่องทางตลาดผู้บริโภคในหลายๆพื้นที่ในจีนโดยเฉพาะภาคเหนือ อีกทั้งให้การรับรองด้านการควบคุมคุณภาพของผลไม้ไทยเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของการนำเข้าผลไม้ของจีนและให้ได้ผลไม้ที่มีคุณภาพดีส่งถึงมือผู้บริโภคจีน รวมถึงด้านปริมาณที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคจีน”

โดยผู้จัดการด้านผลไม้นำเข้าตลาดซินฟาตี้ ได้รายงานให้ทราบถึงสถานการณ์การค้าของทุเรียนในจีนที่ขณะนี้มีการแข่งขันกันสูงขึ้นเนื่องจากมีทุเรียนผลสดทั้งจากไทย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ รวมถึงทุเรียนแช่แข็งมาเลเซีย แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ส่งผลให้ราคาทุเรียนลดลง โดยขณะนี้ทุเรียนไทยยังได้รับความนิยมที่สุด เนื่องจากมีรสชาติและคุณภาพดี และในช่วงที่ผ่านมามีการควบคุมคุณภาพได้ดี ดังนั้นประเด็นสำคัญคือต้องควบคุมคุณภาพของทุเรียนให้คงที่เพื่อครองใจผู้บริโภคชาวจีนให้เป็นที่นิยมตลอดไป

ปัจจุบันทุเรียนของไทยที่เป็นที่รู้จักในตลาดจีน ได้แก่ หมองทอง พวงมณี ก้านยาว ชะนี และมูซานคิง ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เกษตรกรไทยปลูกด้วย ทั้งนี้ หมอนทองเป็นพันธุ์ที่รู้จักและได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากทุเรียนหมอนทองมีปริมาณมาก อีกทั้งเนื้อนุ่ม หอม และอร่อย

ในอนาคตทางผู้ประกอบการหวังว่าจะได้นำเข้าทุเรียนพันธุ์อื่น ๆ มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์มูซังคิงส์สด ซึ่งมีเกษตรกรไทยเริ่มปลูกในภาคตะวันออก เช่นในระยอง ยังมีปริมาณไม่มาก แต่พบว่าที่มีผู้สั่งจองมากมาย ทุกตู้ที่เข้าถึงตลาดเพียงไม่นานก็มีการจำหน่ายออกไปอย่างรวดเร็ว บางตู้มีการเซ็นสัญญารอรับของอีกด้วย ซึ่งในปี 2566 นี้กระแสทุเรียนได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอีกและในขณะนี้ทุเรียนของไทยมีปริมาณไม่เพียงต่อความต้องการในตลาด

สำหรับสถานการณ์การค้าผลไม้ในตลาดผลไม้นำเข้า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลไม้ของไทยเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก หลัก ๆ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว โดยสินค้าที่ขายดี ได้แก่ ทุเรียนผลสดไทย ทุเรียนแช่แข็งมาเลเซีย และมังคุด โดยในช่วงนี้ทุเรียนของไทยเข้าสู่ตลาดประมาณวันละ 10-15 ตู้ ราคา 750-850 หยวนต่อลัง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกล่าวอีกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับส้มโอไทยไม่แพ้กันโดยเฉพาะพันธุ์ทับทิมสยาม อย่างไรก็ตาม ปริมาณของสินค้าไม่พอต่อความต้องการของผู้บริโภคจึงหวังว่าปริมาณส้มโอในปีนี้จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 มิถุนายน 2566 ไทยได้ส่งออกทุเรียนไปจีนแล้วปริมาณ 611,545 ตัน รวมมูลค่ากว่า 79,540 ล้านบาท ส่วนภาพรวมการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 มิถุนายน 2566 ปริมาณรวมทั้งสิ้น 1,164,978 ตัน รวมมูลค่ากว่า 104,770 ล้านบาท

ด้านนางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันผลไม้ของไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกมายังจีนมากถึง 22 ชนิด โดยผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว ส้มโอ ลำไย มะม่วง ดังนั้นจึงยินดีที่จะร่วมมือกับตลาดซินฟาตี้ในการผลักดันผลไม้ชนิดใหม่ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ.ปักกิ่ง) และผู้แทนซินฟาตี้ (Xinfadi) ได้หารือแนวทางในการสร้างความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ผลไม้ของไทยให้เป็นที่รู้จักของประชาชนจีนผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้นโดยการไลฟ์สดแนะนำผลไม้ไทย เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ของจีนสามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองฝ่ายจะหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป