ทุนจีน BGI ผนึกศิริราช ลุยตรวจธาลัสซีเมีย-พัฒนาศูนย์ตรวจสอบพันธุกรรม

ศิริราชลุยธาลัสซีเมีย

ทุนธุรกิจการแพทย์ยักษ์ใหญ่จากจีน “BGI” ผนึกศิริราช พร้อมพันธมิตร เดินหน้าโครงการคัดกรองธาลัสซีเมีย-ยีนบำบัด “จีโนมิกส์” หวังลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่มีความเสี่ยงเกิดโรค พร้อมตั้งไทย International Innovation Center for Life Science ภายใน 2 ปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมคณะผู้บริหาร เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ผู้อำนวยการ บริษัท บางกอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BGI และ BGI Health (HK) Co. Ltd. และ Hemogen Hong Kong Alpha Technology Limited โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมุ่งเน้นไปที่โครงการคัดกรองธาลัสซีเมียและยีนบำบัด ระหว่าง 4 สถาบัน

นายปรีชากล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นไปตามที่ก่อนหน้านี้ นายหวัง เจี้ยน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธาน บริษัท BGI Group บริษัทผู้นำนวัตกรรมจีโนมิกส์สัญชาติจีน ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2566 ซึ่งได้เข้าพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และยังเดินสายพบกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสถาบันการศึกษาทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช และแพทยสภา

โดยความร่วมมือนี้เป็นการต่อยอดในด้านการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบด้านพันธุกรรมกับไทย หรือ International Innovation Center for Life Science รวมถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากร กับสถาบันการศึกษา BGI College ที่พร้อมจะร่วมสนับสนุนไทยในการพัฒนานักศึกษา

“ความร่วมมือนี้เป็นเฟสแรกก่อนที่จะมีการสร้างศูนย์ตรวจสอบ ซึ่งระหว่างนี้กระบวนการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย จะเริ่มส่งตัวอย่างไปตรวจที่จีนก่อน จากนั้นจะมีการสร้างศูนย์ตรวจสอบในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี ตามที่ได้หารือกันไว้

เบื้องต้นงบฯการลงทุนตั้งแล็บจะอยู่ที่หลักร้อยล้าน ไม่สูงมากแต่จะมีการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลเพราะต้องใช้โรงพยาบาลขนาด 1,000 เตียงรองรับผู้ที่เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งต้องเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ คาดว่าใน 1-2 ปีการดำเนินการจะแล้วเสร็จ หากสำเร็จไทยจะเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศในโลกที่สามารถตรวจได้ และมีต้นทุนการตรวจสอบถูกกว่าอีกที่หนึ่งอย่างมาก”

โดย BGI มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ไทยให้ความสำคัญของการตรวจสอบถอดรหัสพันธุกรรมซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยวิเคราะห์ถึงสาเหตุการเกิดโรคต่าง ๆ นับตั้งแต่ระดับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ และเหตุที่เริ่มนำร่องตรวจโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียก่อน

เพราะในปัจจุบันที่ไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ถึง 600,000 คน และมีคนที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมที่จะเป็นโรคนี้ประมาณ 51% ของจำนวนประชากร มีการเกิดโรคใหม่ปีละ 20,000-30,000 คน หากการตรวจสอบทางพันธุกรรมได้ก่อนจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ลงได้

ที่สำคัญ BGI ระบุว่า การพัฒนาเทคโนโลยีด้านจีโนมได้ จะทำให้ต้นทุนการตรวจสอบลดลง จาก 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อคน เหลือ 600-1,000 เหรียญสหรัฐต่อคน (20,000-35,000 บาทต่อคน)มะเร็ง

ซึ่งบริษัท BGI มีเป้าหมายที่จะต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีไปอีก เพื่อลดต้นทุนในการตรวจสอบลงไปอีกให้เหลือแค่ 100 เหรียญสหรัฐ (3,500-3,600 บาทต่อคน) เช่นเดียวกับโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งบริษัท BGI เป็นหนึ่งใน 2 บริษัทในโลกที่มีเทคโนโลยีที่สามารถรักษาได้ อัตราค่ารักษาลดลงจาก 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ (50-60 ล้านบาท) ก็จะลดลงเหลือไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ (3-4 ล้านบาท) เท่านั้น