คุมเข้มทุเรียนส่งออก สุ่มตัวอย่างตรวจสอบพบทุเรียนด้อยคุณภาพ 4.4% 

ทุเรียนอ่อน ทุเรียนด้อยคุณภาพ

กรมวิชาการเกษตร สั่งคุมเข้มทุเรียนส่งออกหลังหลังสุ่มตัวอย่างตรวจสอบพบทุเรียนด้อยคุณภาพ 4.4% ผลผลิตทุเรียนใต้เดือนกรกฎาคมปรับลดลงเหลือ 60-70 ตู้ต่อวัน

วันที่ 30 กรกฎาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ว่านางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี รายงานผลการตรวจคุณภาพทุเรียนในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 พบว่า ทุเรียนใต้เริ่มลดปริมาณลงโดยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมเหลือประมาณ 60-70 ตู้ต่อวัน และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะปริมาณผลผลิตทุเรียนในแปลงเกษตรกรเริ่มลดลงแล้ว

โดยในช่วงวันที่ 10-25 กรกฎาคม 2566 สวพ.เขต 7 และ สวพ. เขต 8 ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรได้รายงานว่า จากผลการตรวจระดับความสุก-แก่ของทุเรียนที่เกษตรกรส่งเข้าโรงคัดบรรจุ พบมีทุเรียนด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงได้ปฏิเสธการส่งออกทุเรียนด้อยคุณภาพและพ่นสีแดงตามมาตรการของจังหวัด เพื่อให้ทุเรียนส่งออกเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพเท่านั้น และได้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายเพิ่มความระมัดระวัง ในการตรวจสอบคุณภาพเนื้อทุเรียนต้องแก่และมีใบรับรองแปลง GAP ถูกต้อง ปลอดจากศัตรูพืชซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนดตามพิธีสารไทย-จีน  

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการควบคุมคุณภาพของทุเรียนภาคใต้ตอนบน โดยทีมงาน สวพ.เขต 7 และ สวพ. เขต 8 และด่านตรวจพืชท่าเรือระนอง มีผลการดำเนินงานเป็นไปด้วยดี  

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์


ผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียนโดยชุดปฏิบัติเฉพาะกิจฯตรวจทุเรียนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-29 กรกฎาคม 2566 ผลการสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์คุณภาพ 910 ตัวอย่าง คุณภาพผ่าน  870 ตัวอย่าง และมี 40 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 4.4 

แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดระมัดระวัง เพื่อรักษาความนิยมทุเรียนไทยของตลาดส่งออก ประกอบกับในช่วงนี้เริ่มมีทุเรียนจากภาคใต้ตอนล่าง และจังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงทุเรียนภายนอกพื้นที่เข้ามาขายให้กับโรงคัดบรรจุในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช  สุราษฎร์ธานี และชุมพร เพิ่มขึ้นด้วย 

Advertisment

“ขอให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร เจ้าของสวน ล้งผู้ส่งออกและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ยังคงตรวจสอบคุณภาพทุเรียน ณ โรงคัดบรรจุอย่างเข้มงวดเหมือนเดิม พร้อมกับให้ร่วมมือกับจังหวัดชุมพรและจังหวัดอื่น ๆ ในการสนับสนุนการตั้งด่านตรวจสอบคุณภาพรถบรรทุกทุเรียนที่นำทุเรียนเข้ามาจำหน่าย โดยต้องเป็นทุเรียนที่มีใบรับรอง GAP มาแสดงพร้อมกับทุเรียนที่นำมาจำหน่ายด้วยทุกครั้ง”

พร้อมเน้นย้ำเกษตรกรและมือตัดไม่ตัดทุเรียนอ่อน และโรงคัดบรรจุต้องไม่ซื้อทุเรียนอ่อน เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของทุเรียนไทยเป็นไปตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้า สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่มีใบรับรอง GAP ให้เร่งยื่นขอการรับรองกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในจังหวัดเพื่อให้ได้รับสิทธิในการผลิตทุเรียนส่งออกไปจีน เนื่องจากข้อกำหนดของฝ่ายจีนระบุว่าต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ และนำส่งขึ้นเว็บไซต์ของจีน อย่างน้อย 3 เดือนจึงจะนำไปใช้ในการประกอบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับส่งออกได้

Advertisment

ซึ่งในฤดูกาลปี 2566 นี้ ทุเรียนใต้ได้ถอดบทเรียนความสำเร็จจากการดำเนินงานควบคุมคุณภาพทุเรียน ภาคตะวันออก “จันทบุรีโมเดล” มาปรับใช้ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีการประชาสัมพันธ์รณรงค์อย่างเนื่อง รวมถึงขอความร่วมมือไปยังเกษตรกร มือตัดทุเรียน และโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่จะส่งออกให้คุมเข้มไม่ตัด และไม่รับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) เพื่อป้องกันไม่ให้ทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด