หนี้ครัวเรือนพุ่ง หวั่นยอดรถในประเทศวืดเป้า แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อรถยนต์

หนี้ครัวเรือน

ส.อ.ท.จับตาหนี้ครัวเรือนพุ่ง กดดันแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ฉุดยอดผลิตในประเทศ หวั่นเป้าผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอาจไม่ถึง 8.5 แสนคัน หวังลุ้นรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้น ศก.ปลายปี

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทเดือน ก.ค. 2566 อยู่ที่ 149,709 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 4.72% เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกอยู่ที่ 86,552 คัน เพิ่มขึ้น 9.48% ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2566) อยู่ที่ 617,207 คัน เพิ่มขึ้น 11.72%

โดยการผลิตเพื่อการส่งออกคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ ขณะที่ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 63,157 คัน ลดลง 1.16% และ 7 เดือนอยู่ที่ 454,014 คัน ลดลง 11.28%

สำหรับภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2566) อยู่ที่ 1,071,221 คัน เพิ่มขึ้น 0.66% ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่ไม่สูงนัก เนื่องจากการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศยังคงไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่าย มีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น

“ขณะนี้ต้องติดตามยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จะส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเข้มงวดขึ้น และทำให้ยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ลดลงหรือไม่ จากก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.ได้ปรับเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ลง 50,000 คัน

Advertisment

จากเดิมตั้งเป้าหมายยอดผลิตรวมอยู่ที่ 1,950,000 คัน เหลือ 1,900,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงเหลือ 850,000 คัน จากเดิมคาดไว้ที่ 900,000 คัน ขณะที่ยอดผลิตเพื่อการส่งออกคงเดิม 1,050,000 คัน ซึ่ง ส.อ.ท.หวังว่ารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี ช่วยฟื้นยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นได้”

สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน ก.ค. 2566 อยู่ที่ 58,419 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.77% เนิ่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะบรรทุกจากหนี้ครัวเรือนของประเทศที่สูง และอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ทำให้อำนาจซื้อลดลง

รวมทั้งการส่งออกของสินค้าหลายอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกัน ทำให้การทำงานล่วงเวลาลดลง รายได้ของคนทำงานจึงลดลงตามไปด้วย เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้ภาพรวม 7 เดือน ยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 464,550 คัน ลดลง 5.45%

ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ก.ค. 2566 อยู่ที่ 108,052 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.05% เพราะประเทศคู่ค้ายังนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโต การส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอเมริกาเหนือที่ลดลง ส่งผลให้ 7 เดือนของปีนี้การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 636,868 คัน เพิ่มขึ้น 19.55% มูลค่าการส่งออก 396,769.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.52%

Advertisment

“ขณะที่เราได้รัฐบาลใหม่แล้ว ซึ่งทุกพรรคได้เคยหาเสียงที่จะลดรายจ่ายประชาชน ทั้งค่าไฟ ค่าโดยสารการเดินทาง ฯลฯ จึงอยากให้รัฐบาลดูแลค่าครองชีพ ราคาอาหารแพงขึ้นแล้วไม่ลง ดึงการลงทุนให้ยังคงเชื่อมั่นว่าจะสร้างการเติบโต และจะมีการส่งเสริมให้ต่อเนื่อง ทำให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่องเช่นกัน

รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ก็ต้องการให้นำกลับมาอนุมัติด่วน เพราะ EV 3.0 จะสิ้นสุดเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อเนื่องมากขึ้น รวมถึงแบตเตอรี่และชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อผลักดันไทยก้าวสู่ฮับในภูมิภาคอาเซียน” นายสุรพงษ์กล่าว