บีโอไอ-สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ยิ้ม EV โตต่อเนื่อง รอชง “อีวี 3.5” รัฐบาลใหม่สิ้นปีนี้

บีโอไอ BOI EVAT รถยนต์ไฟฟ้า
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ และกฤษฎา อุตตโมทย์

เมื่อภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทั้งโลกต้องเผชิญ การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่ง “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ “อีวี” ก็เป็นอีกทางออกที่นอกจากจะช่วยโลกและพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 แล้ว ยังช่วยให้พาเศรษฐกิจไทยเติบโตตามไปด้วย ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์และส่งออกอันดับ 1 ของอาเซียนและติดท็อป 10 ระดับโลก

อนาคตอีวีสดใส

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรก รถยนตร์ไฟฟ้าหรืออีวีมียอดการจดทะเบียนกว่า 37,000 คัน ซึ่งเติบโตขึ้น 400% เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากในปีนี้มีแรงกระตุ้นจาก มาตรการลดหย่อนภาษีอีวีสูงสุด 1.5 แสนบาท และการลดภาษีสรรพสามิตรจาก 8% เหลือ 2% ประกอบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้ตลาดอีวีคึกคัก 

“ในช่วงที่ผ่านมาได้มีค่ายรถทยอยมาจดทะเบียนกับกรมสรรพสามิต 7-8 ราย โดยเฉพาะยี่ห้อที่เป็นเจ้าตลาด อาทิ MG GWM เป็นต้น เนื่องจากมาตรการส่งเสริมที่ภาครัฐสนับสนุน ส่วนมาตรการส่งเสริมในปีหน้าจะเน้นหนักเรื่องการผลิตภายในประเทศ เพราะปัจจุบันนี้ ไทยเน้นการนำเข้าอีวีเข้ามาขายในประเทศ แต่ตั้งแต่กุมภาพันธ์ของปี 2567 จะเริ่มมีรถที่ผลิตในประเทศไทยออกมาจำหน่าย ทำให้ปีหน้าก็จะเป็นอีกปีที่ดีสำหรับอีวีของประเทศไทย”

แต่อย่างไรก็ตาม นายกฤษฎากล่าวถึงความกังวลว่า อาจจะมีรถหลายคันที่จดทะเบียนไม่ทันสิ้นปีนี้จนอาจจะพลาดสิทธิประโยชน์ทางภาษี เนื่องจากขั้นตอนการจดทะเบียนโดยทั่วไปแล้วต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงอยากเร่งให้ขั้นตอนการจดทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน 

ตลาดอีวีไทยบูม

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า รถยนต์ที่เข้ามามีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นและมีอีกหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างการเตรียมการจะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ตอนนี้ค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยอย่างชัดเจนแล้วก็มีทั้ง MG Great wall motor NETA V และอีก 2 ค่ายที่ประกาศแผนการลงทุนไปแล้วก็คือ CHANGAN AUTO และ GAC AION ในส่วนของอีวี วันนี้มีบริษัทที่เริ่มผลิตไปแล้วอย่าง Mercedes-Benz ในปีหน้าจะมีอีกหลายรายที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร พร้อมเริ่มผลิตได้ภายในปีหน้า 

Advertisment

“การผลิตของบริษัทเหล่านี้ผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออก ทำให้จะเห็นยอดการผลิตและส่งออกตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป บีโอไอส่งเสริมอีวีทั้งระบบนิเวศตั้งแต่การประกอบอีวี ชิ้นส่วนสำคัญ แบตเตอร์รี่และการใช้บริการ สถานีชาร์จ”

ความคืบหน้าเป้าหมายอีวี 30@30

นายนฤตม์กล่าวว่า ปัจจุบันเราส่งเสริมไปทั้งหมด 14 โครงการ มีกำลังการผลิตมากกว่า 2.7 แสนคัน ซึ่งจะทยอยผลิตตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ถ้าสามารถผลิตได้เต็มกำลังก็จะบรรลุ 1 ใน 3 ของเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ 725,000 คันในปี 2030

“ตอนนี้กลยุทธ์ของรัฐบาลและบีโอไอพยายามสนับสนุนให้ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ในประเทศไทยไปสู่อีวีมากขึ้นและดึงผู้ผลิตรายใหม่จากทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะจีน เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป ทำให้จากนี้ไปอาจจะได้เห็นหลายบริษัทประกาศแผนลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น”

สำหรับเกาหลี จากการหารือกับนายคัง จุงมัน นายกเทศมนตรีเมืองยองกวาง พร้อมคณะผู้บริหารและผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้เห็นโอกาสอีวีในหลากหลายกลุ่มมากขึ้น ทั้งกลุ่มรถยนต์ในภาคเกษตร กลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ และกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ทำให้เราอาจจะได้เห็นอีวีที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาให้ไทยกลายเป็นฐานผลิตอีวีที่ตอบโจทย์กับทุกการใช้งานในอนาคต 

Advertisment

มาตรการอีวี 3.5

นายนฤตม์อธิบายว่า มาตรการอีวี 3.5 เป็นมาตรการสำคัญที่จะรักษาโมเมนตัมให้มีการเติบโต ตามมาตรการอีวี 3.0 เดิม อนุญาตให้มีการนำเข้าอีวี โดยจะได้รับการสนับสนุนทางภาษีจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้มีการหารือร่วมกันและได้เสนอเข้าไปในบอร์ดอีวี เพื่อขยายเวลามาตรการอีวี 3.5 ในการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน (CBU) ในปี 2567-2568 และมีการผลิตชดเชยในปี 2569-2570 ซึ่งคาดว่าถ้ามีรัฐบาลใหม่แล้วก็จะเสนอมาตรการนี้เข้าไปในอีวีชุดใหม่เพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอให้กับ ครม. ซึ่งควรเสร็จภายในเดือนธันวาคม เพื่อประกาศใช้ให้ทัน 1 มกราคม 2567

แผนในอนาคต 

นายนฤตม์กล่าวว่า 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค (Regional headquarter) ซึ่งตอนนี้กำลังเตรียมงานเพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ ว่าปัจจุบันมีมาตรการใดบ้าง และต้องทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อดึงให้เรื่องนี้สำเร็จ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนวางแผน 

“เราไม่ได้ยึดติดเรื่องภาษี เพราะเรามองภาพรวมทั้งหมดที่ภาครัฐมี โดยยึดแต่ละอุตสาหกรรมเป็นหลัก อย่างอีวีที่จะสำเร็จได้จะต้องมีเงินสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนซื้ออีวีในราคาที่ถูกลง เพราะฉะนั้นบอร์ดอีวีต้องไปออกแบบเครื่องมือของสรรพสามิต ลดอากรนำเข้า พร้อมมีเงินสนับสนุนให้ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราไม่ได้มองแค่เครื่องมือของบีโอไอเท่านั้น แต่มองอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้งว่าแต่ละอุตสาหกรรมต้องการอะไร จากนั้นก็ย้อนกลับมามองเครื่องมือของภาครัฐทั้งหมดแล้วเรามาช่วยกัน”

อีกเรื่องคือ การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคนั้น ปัจจัยภาษีไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ต้องเน้นความสะดวก ซึ่งบีโอไอ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร สร้างแพลตฟอร์ม one stop service ขึ้นและยกระดับให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

“เราก็มั่นใจว่าเรามีแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ของเรานั้นมีความครอบคลุมและตอบโจทย์กับผู้ลงทุนจากหลายหลายชาติทั้งจีน ญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป รวมถึงความสะดวกสบายและค่าครองชีพที่ถูกกว่า ทำให้เราเองก็ไม่แพ้คู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันแน่นอน”

รัฐบาลใหม่ผลักดันต่อ

สำหรับรัฐบาลใหม่นั้น นายกฤษฎาเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเข้ามาก็ต้องสนับสนุนและผลักดันเรื่องอีวีต่อไปเพราะต้องการผลักดันให้มีการผลิตในประเทศอย่างครบวงจรเพื่อบรรลุเป้าหมายอีวี 30@30 ที่ตั้งเป้าว่าต้องมีอีวีให้ได้ 30% ภายในปี 2030 โดยอีวีต้องเติบโตอย่างน้อยปีละ 50,000 คัน เพราะหากไม่มีการสนับสนุนก็ยากที่จะไปถึง