เอกชัย ลิมปิโชติพงษ์ “อนาคตยาง” หลังต่างชาติย้ายฐานมาไทย

สัมภาษณ์

ห้วงเวลา 2 ปีนี้รัฐบาลพยายามเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหันมาส่งเสริมการแปรรูปนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าและการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น นอกจากการส่งออกน้ำยางธรรมชาติ แต่ทุกมาตรการในเวลานี้จะช่วยผลักดันราคายางให้เป็นรูปธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำได้หรือไม่

ปัญหาที่ยังติดขัดคืออะไร ผู้ประกอบการต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพียงใด

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “เอกชัย ลิมปิโชติพงษ์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงสถานการณ์ราคา และแนวโน้มการผลิตผลิตภัณฑ์ยางปีนี้

คาดการณ์ทิศทางราคายางปีนี้

ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ประเทศไทยมีโรงงานผลิตหรือโรงงานแปรรูปยางพารามากขึ้น หลัก ๆ เนื่องจากสินค้าจากประเทศจีนถูกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (antidumping) เช่น จากสหรัฐอเมริกา และคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาจมีสหภาพยุโรป (อียู) ด้วย ทำให้มีชาวต่างชาติเริ่มขยับขยายการลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสนับสนุนตลาดส่งออก

เพราะฉะนั้นช่วงหลังนี้ผมคิดว่ากำลังการผลิตยางล้อจากประเทศไทยน่าจะเพิ่มขึ้น คาดว่าน่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 5% และภายใน 4-5 ปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% แน่นอน

ส่วนยางธรรมชาติบ้านเราผลิตได้มากอยู่แล้วกว่า 70% ซึ่งยังเป็นเพียงอุตสาหกรรมแปรรูปยางล้อ เพราะฉะนั้นยางล้อยังเป็นตัวขับเคลื่อนยางธรรมชาติในตลาด ส่วนที่เหลืออีก 30% นำไปผลิตอุปกรณ์ ถุงมือยาง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าในการผลิตถุงมือจากยางธรรมชาติมีปัญหาส่วนหนึ่งเป็นข้อจำกัด คือ ผู้บริโภคที่ซื้อไปใช้บางคนเกิดการแพ้โปรตีนในยางธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นข่าวในเชิงลบบ้าง ทำให้ผู้ผลิตหันไปใช้ยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้น ตั้งเป้าว่าในปี 2563 มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท รวมต้นน้ำ และทุกผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เช่น ยางล้อ ถุงมือยาง

รัฐบาลผลักดันการแปรรูปยาง

รัฐอาจจะขาดการประชาสัมพันธ์ เพราะจริง ๆ แล้วถุงมือที่ผลิตจากยางธรรมชาติ มีข้อดีคือ ความบางเบา และเหนียว หากเทียบกับถุงมือที่เป็นยางสังเคราะห์จะหนากว่า เพราะฉะนั้นถือว่าไม่สะดวกในการใช้งาน การทำประชาสัมพันธ์ออกไปว่ายางธรรมชาติมีคุณสมบัติที่ดี สามารถแปรรูปได้ ด้วยต้นทุนน้อยกว่า แต่มูลค่าเพิ่มน่าจะเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรประชาสัมพันธ์

ความคืบหน้าศูนย์ล้อยางอยู่ระหว่างประมูลงานก่อสร้าง ได้รับความสนใจจากรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดว่าโครงการนี้ต้องเดินหน้าในปีนี้แน่นอน

รัฐจะลดพื้นที่กรีดยาง

ผมมองว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่จะรวมตัวกันได้จริงหรือไม่เป็นโจทย์สำคัญ เพราะต้องยอมรับว่าเกษตรกรบ้านเราต้องใช้เวลา ต้องปรับตัว เพราะถ้าหยุดกรีดยางแล้ว จะให้เกษตรกรไปทำอะไร จะกินอะไร ผมว่านี่คือประเด็น

การอัดฉีดจะผลักดันราคายาง

ถ้าถามส่วนตัวผม ปีนี้ผมมองว่าราคายางดีขึ้นแน่นอน เพราะตอนนี้ปัจจัยราคาน้ำมันขยับขึ้นและสิ่งที่เห็นได้เด่นชัดคือราคายางสังเคราะห์เริ่มขยับขึ้น เพราะฉะนั้นคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ราคายางจะปรับตัวขึ้น 5-10 บาทแน่นอน ส่วนจะแตะราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม ผมยังมองว่าราคายางธรรมชาติยังมีทิศทางที่สดใส เพราะยางสังเคราะห์ที่เป็นตัวทดแทนกันได้ปรับขึ้นราคาไประดับหนึ่งแล้ว นี่คือในแง่เสถียรภาพของราคา

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ปริมาณการใช้ยางในจีนเริ่มลดลง เพราะทราบว่าประเทศจีนขณะนี้ค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับนโยบาย คำนึงถึงมลพิษสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้ตอนนี้หลายโรงงานยางในจีนเริ่มปิดตัวลง เนื่องจากว่าในอดีตที่ผ่านมาประเทศจีนมีการผลิตยาง ว่ากันง่าย ๆ ก็ผลิตทุกอย่าง โดยไม่ได้คำนึงถึงมลพิษ ตอนหลังรัฐบาลจีนจึงเห็นว่ามลพิษในอากาศรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสิ่งที่ตามมาคือปัญหาสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากร เช่น เด็ก ๆ เป็นโรคที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้จำนวนมากขึ้น รัฐก็สูญเสียงบประมาณ ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงออกกฎระเบียบการควบคุมมลพิษออกมาเพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้ผมได้ยินว่ารัฐบาลจีนควบคุมถึงขั้นที่ว่า มาตรการเข้มงวดกว่ามาตรฐานที่กำหนดบังคับใช้ในยุโรปด้วยซ้ำ ขณะนี้จึงได้ออกกฎระเบียบบังคับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในทุกมณฑล หรือทั้งประเทศ ให้ปฏิบัติร่วมกันโดยเฉพาะทางตอนเหนือของจีนที่สภาพภูมิอากาศค่อนข้างหนาว เมื่ออากาศหนาวมาก แต่การเผาขยะ ก๊าซพิษหรือทำกิจกรรมอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การเผาไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่น ที่เป็นวิถีชีวิตจริงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่รัฐบาลกำหนดว่า หากอุตสาหกรรมใดที่เป็นการผลิตที่ไม่ใช่การบริโภคหรืออาหาร ตรงกันข้ามคือสินค้าอุปโภค เช่น อุตสาหกรรมยาง ต้องควบคุมมลพิษและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

อานิสงส์ย้ายฐานผลิตมาไทย

มีนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากประเทศเวียดนามมายังประเทศไทยจะเริ่มขึ้นหลังจากนี้ แต่ที่ย้ายมาตั้งโรงงานก่อนหน้านี้ก็เริ่มผลิตแล้ว จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติในบ้านเราเพิ่มมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ นโยบายการตั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ชลบุรี และระยอง ล่าสุดมีโรงงานแปรรูปล้อยางของผู้ประกอบการจีนประมาณ 4-5 รายมาตั้ง และเริ่มดำเนินการผลิตแล้ว

กระตุ้นการใช้ยางในประเทศ

บ้านเราต้องเร่งส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งในข้อนี้รัฐบาลดำเนินนโยบายสนับสนุนถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่ที่อยากฝากถึงอีกเรื่องสำคัญมาก คือมาตรฐาน สิ่งที่กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เราเรียกร้องมาตลอดคือการยกระดับยางล้อให้เป็นมาตรฐานบังคับ ทุกวันนี้เรามีมาตรฐานยางล้อ แต่ไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทั้งนั้น แต่ปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวนมากเข้ามาขายในประเทศไทย ทำให้ผู้ใช้มีความเสี่ยง เมื่อรถใช้ล้อยางที่ไม่ดีจะทำให้ได้รับผลกระทบกันโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น เรื่องนี้เราพยายามผลักดันมาตลอดแต่ก็ยังล่าช้า

จริง ๆ แล้วการยกระดับให้เป็นมาตรฐานบังคับ นอกจากจะช่วยเรื่องความปลอดภัยแล้วยังเป็นการสร้างกำแพงหรือข้อกีดกันทางการค้า ไม่ให้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพเข้ามาในประเทศไทย จะทำให้ผู้ผลิตภายในประเทศไม่ต้องแข่งขันในเรื่องราคามากนัก แต่ให้ไปแข่งขันกันในเรื่องคุณภาพมากกว่า เหมือนกับถ่านไฟฉายเมื่อคนแอบนำเข้ามา สุดท้ายก็เอาไปใช้ไม่ได้ สินค้าเหล่านี้เป็นของแพงอีก แต่ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าหากรัฐกำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับ ผู้ขายจะซี้ซั้วขายไม่ได้ ผิดกฎหมายทันที