“พิมพ์ภัทรา” ลุยใต้ เสริมแกร่ง 3 อุตสาหกรรม สู่ธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ

พิมพ์ภัทรา รมว.อุตสาหกรรม

พิมพ์ภัทราลุยใต้ถกภาครัฐ-เอกชนขับเคลื่อน ศก.ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เสริมแกร่งพัฒนา 3 อุตสาหกรรม เหมืองแร่-เกษตรแปรรูป-ปาล์มน้ำมันและยางพารา พร้อมเร่งเพิ่มทักษะ SME สู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ผ่านเครื่องมือส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ

วันที่ 22 กันยายน 2566 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดประชุมขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

“การหารือครั้งนี้มุ่งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ เช่น กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มทักษะการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ โดยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางธุรกิจในระดับสากล”

โดยแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ปรับปรุงกฎระเบียบเหมืองแร่และป่าไม้

เนื่องจากแร่บางชนิดอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ จึงได้กำหนดเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อยกระดับการทำเหมืองแร่ให้มีมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต สร้างเศรษฐกิจในพื้นที่นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยได้ดำเนินการปรับปรุงกลไกการอนุมัติ อนุญาต ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการ ในการออกแบบกลไกการทำงาน เพื่อลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมือง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า มีการสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบแร่ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันที่คำนึงถึงการสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น
ปัจจุบัน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (กพร.) ได้การปรับปรุงกระบวนการอนุมัติ อนุญาต และการกำกับดูแล โดยนำระบบเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาช่วยเพิ่มความสะดวกและรวมเร็ว อาทิ การนำระบบนำเข้า ส่งออกแร่ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการชำระค่าภาคหลวงแร่ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DPIM-Fin) ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดลองใช้งาน

“พิมพ์ภัทรา” ลุยใต้เสริมแกร่ง 3 อุตสาหกรรมสู่ธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ

เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่

สำหรับการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ ทั้งกาแฟโรบัสต้า และทุเรียน การแปรรูปผลิตภัณฑ์และยกระดับกระบวนการผลิตให้ทันสมัย เช่น บรรจุภัณฑ์ชีวภาพหรือสารสกัดที่มูลค่าสูง ส่งเสริมการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ แบบควบคุมอุณหภูมิ หรือ Cold Chain Logistics ให้มีศักยภาพสูง พร้อมผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power และกิจกรรมเพื่อเป็นเวทีขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ตลอดจนเพิ่มช่องทางการตลาดในรูปแบบงานแสดงสินค้า (Mice) เพื่อเชื่อมโยงภาคผลิตและเกษตรในพื้นที่

ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็มีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชน ผ่านการให้คำปรึกษาแนะนำการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการมีความพร้อมและความสามารถพัฒนากระบวนการผลิตเข้าสู่อาหารปลอดภัย (Food Safety) และเข้าสู่มาตรฐานฮาลาล

โดยใช้กลไกของศูนย์แปรรูปเกษตรอุตสาหกรรมดีพร้อม (Industry Transformation Center) หรือ ITC DIProm Center ที่ให้บริการกับผู้ประกอบการครอบคลุม ทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมาใช้บริการผ่านศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center : Thai-IDC) ที่จะเชื่อมโยงบูรณาการบริการด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์กับหน่วยงานเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างครบวงจร

สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและยางพารา

สำหรับแนวทางในการเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมัน กระทรวงฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (Oleochemica) แบบครบวงจรในสุราษฎร์ธานีและชุมพร โดยจะมีการนำงานวิจัยและพัฒนาการแปรรูปน้ำมันปาล์มให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความแข็งแกร่งในทุกมิติ

ส่วนยางพาราก็ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างครบวงจร แม้พื้นที่ภาคใต้มีโรงงานผลิตถุงมือยางที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อยู่ แต่ยังจำเป็นต้องเพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการผลิตยางพาราที่มีคุณภาพและให้ได้น้ำยางมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมด้านเงินทุน เทคโนโลยีและเครื่องจักรในการผลิต เพื่อให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อความยั่งยืน

“พิมพ์ภัทรา” ลุยใต้เสริมแกร่ง 3 อุตสาหกรรมสู่ธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ