Dragonfly แพลตฟอร์มทางการเกษตร GISTDA หวังช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

GISTDA ผุด Dragonfly แพลตฟอร์มดิจิทัลทางการเกษตร

GISTDA ผุด Dragonfly แพลตฟอร์มดิจิทัลทางการเกษตร หวังลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรไทย

วันที่ 27 กันยายน 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Dragonfly แพลตฟอร์มเกษตรเชิงพื้นที่รายแปลง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก” โดยมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเกษตรเชิงพื้นที่รายแปลง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่รายแปลงเพาะปลูกข้าวได้อย่างเหมาะสมและเป็นระบบ

โดยมีนางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ GISTDA เป็นประธานในพิธีเปิด ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น โฮเทล กรุงเทพฯ

ดร.สยาม ลววิโรจน์วงค์ โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า GISTDA มีความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาบูรณาการให้เกิดการใช้ประโยชน์กับประเทศไทยให้มากที่สุด โดยเฉพาะในภาคการเกษตร เทคโนโลยีจากดาวเทียมสามารถสร้างความสัมพันธ์ทั้งเชิงพื้นที่ เชิงเวลา และสร้างสัมพันธภาพกับเกษตรกร ผ่านแพลตฟอร์มเกษตรเชิงพื้นที่รายแปลงที่ชื่อว่า “Dragonfly” ซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ทุกปัญหาของเกษตรกรในระดับรายแปลงที่แม่นยำ และทันสมัย

Advertisment

ช่วยให้เกษตรกรสามารถติดตาม เฝ้าระวัง และคาดการณ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนและบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งขายผลผลิต “Dragonfly” หรือ “แอปแมลงปอ” นอกจากเข้าถึงง่าย ใช้งานได้สะดวกแล้ว ยังติดตามและเฝ้าระวังความสมบูรณ์ของพืชได้ทุกสัปดาห์ ไม่ให้พืชเสียหายหนักจนเกินแก้ไข

พร้อมแจ้งเตือนการเฝ้าระวังสภาพอากาศ บอกพื้นที่น้ำท่วม ภัยแล้งในแปลงและข้างเคียงได้ บอกราคารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นปัจจุบัน แนะนำการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี รวมถึงมีเครื่องมือช่วยให้เกษตรกรจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย และผลผลิตในแต่ละวงรอบการเพาะปลูกได้ด้วย

โฆษก GISTDA กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในด้านการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ ในระยะยาวและยั่งยืนจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน เพื่อการขยายผลต่อไปแบบก้าวหน้า ทั้งด้านข้อมูล เทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย ทั้งหมดก็เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคการเกษตรของไทยให้มีสมรรถนะสูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Advertisment

และในอนาคตอันใกล้นี้ช่วงต้นเดือนตุลาคมประเทศไทยกำลังนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ก็จะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญและเสริมศักยภาพต่อการวางแผนและพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการจัดการน้ำ ภัยพิบัติ ภาคการเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการผังเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ตลอดจนด้านความมั่นคงของประเทศต่อไป