ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 อยู่ในมือเจ้าของเดิม 99% ธรรมนัสจัดระเบียบก่อนแปลงเป็นโฉนด

ที่ดิน ส.ป.ก.

“ธรรมนัส” จัดระเบียบที่ดิน ส.ป.ก. คาด 99% ส.ป.ก.4-01 อยู่ในมือเจ้าของเดิม เร่งรังวัดสำรวจแจกโฉนดคนถือครองถูกกฏหมาย ลั่นใครทำผิดยึดคืน-เล็งปลดล็อกโรงแรมในที่ ส.ป.ก.ให้เช่าที่ได้ยันไม่ทุบทิ้งนำเงินเข้ากองทุน ส.ป.ก.มหาศาล

วันที่ 19 ตุลาคม 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้คาดว่าที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ประมาณ 99% เป็นเกษตรกรรายเดิมที่ได้สิทธิในการทำกินครั้งแรก ดังนั้น การดำเนินโครงการเปลี่ยนที่ดินของ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด ถือเป็นการปลดล็อกปัญหาการบุกรุกที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของนายทุน ยึดที่ ส.ป.ก. 4-01 โดยการใช้นอมินีและปัญหาที่ทำให้ราคาที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ต่ำกว่าราคาซื้อขายทั่วไป ซึ่งหลังการแจกโฉนด ส.ป.ก.แล้วทุกอย่างจะชัดเจน

สำหรับที่ดิน ส.ป.ก.4-01 มีหลายพื้นที่ได้พัฒนาสร้างเป็นโรงแรม เป็นโรงเรียน ตลาด เป็นต้น ในส่วนนี้จะมีการจำแนกพื้นที่ ส.ป.ก.ในลักษณะดังกล่าว ออกไว้เป็นส่วนที่จะปล่อยให้เช่าและเก็บเงินค่าเช่าเข้ากองทุน ส.ป.ก. ซึ่งปัจจุบันกองทุน ส.ป.ก. มีวงเงินสะสมอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท หากปลดล็อกพื้นที่ดังกล่าวได้จะทำให้เงินที่เก็บเข้ากองทุนมีมูลค่ามหาศาล เพราะมีที่ ส.ป.ก.4-01 จำนวนมากอยู่ในพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว มีการสร้างโรงแรม อาทิ โรงแรมในเกาะสมุย โรงแรมในภูเก็ต มีหลายที่ที่เป็นที่ ส.ป.ก.

“การเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด เป็นการเปิดโอกาสให้ที่ดินสามารถเปลี่ยนมือได้อย่างถูกกฎหมาย ราคาซื้อขายที่ดิน จะเป็นไปตามราคากลไกทางการตลาด ซึ่งจะช่วยให้การกว้านซื้อที่ดินลดลง การบุกรุกของนายทุนลดลง และเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนที่ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด จะเอาสิ่งที่อยู่ใต้โต๊ะขึ้นมาอยู่บนโต๊ะให้หมด จะทำให้การบริหารจัดการ หรือกำกับดูแลง่ายขึ้น โปร่งใน ผลประโยชน์ตกอยู่กับเกษตรกรและประเทศชาติ”

Advertisment

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ในวันที่ 24 ต.ค. 2566 สำนักงาน ส.ป.ก.ทั่วประเทศจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมารายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) รับทราบต่อไป ก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎกระทรวง ภายใต้ พ.ร.บ.ส.ป.ก.ฯ ซึ่งมั่นใจว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในวันที่ 15 ธ.ค. 2566 นี้

การทำให้ที่ดินสามารถเปลี่ยนมือได้ ย่อมทำให้ที่ดินนั้นมีมูลค่าสูงขึ้น แม้ว่าการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะทำให้ที่ดิน สามารถเปลี่ยนมือได้ แต่ ส.ป.ก. ยังคงทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนเพื่อควบคุม กำกับ และจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรรายใหม่เช่นเดิม ภายใต้เจตนารมณ์ คือการจัดสรรที่ดินต้องทำเกษตรกรรมและการเปลี่ยนมือสามารถดำเนินการระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกรเท่านั้น

นอกจากนี้โฉนด ส.ป.ก. ที่จะออกให้ในวันที่ 15 ม.ค. 2567 จะสามารถนำไปขายหรือค้ำประกันเงินกู้ได้ ในการค้ำประกันกับสถาบันการเงินอื่น ๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ นั้น เดิมที่ดิน ส.ป.ก. สามารถขอยื่นกู้เงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เพียงสถาบันเดียว เพราะสถาบันการเงินอื่นไม่รับจำนอง เพราะไม่สามรถยึดที่ ส.ป.ก.ได้ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นโฉนดแล้วจะทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น โดยหลังจากนี้ ส.ป.ก. จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกับสถาบันธนาคารเพื่อกำหนดเงื่อนไขในการขอกู้เงินร่วมกันต่อไป