จับตา ครม.วันนี้ ย้าย ‘จุลพงษ์ ทวีศรี’ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

จุลพงษ์ ทวีศรี
ภาพจาก มติชน

จับตาประชุม ครม.วันนี้ กระแสการเมืองกดดันย้าย ‘จุลพงษ์ ทวีศรี’ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เอกชน-ภาคประสังคมแห่ให้กำลังใจ

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ มีกระแสว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอย้ายนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต่อที่ประชุมครม.จากปัญหาเกี่ยวกับปัญหากากอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา

นางรสนา โตสิตระกูล อดีตสว.และนักเคลื่อนไหวทางสังคม เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กว่า มีข่าวลือหึ่งว่าปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมถูกกดดันให้ชงเรื่องเปลี่ยนย้ายตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี ในการประชุม ครม. 31 ตุลาคม 2566 ทั้งที่นายจุลพงษ์เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมแค่ปีเดียว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565

ผลงานนายจุลพงษ์เข้าตาชาวบ้าน เป็นความหวังของชาวบ้านที่ทนทุกข์จากการละเลยจัดการโรงงานที่สร้างความเดือดร้อนต่อชาวบ้าน ทั้งการทิ้งสารพิษปนเปื้อนลงในสิ่งแวดล้อม ทั้งการเก็บกักสารเคมีอันตรายในชุมชน กระทบสุขภาพประชาชนหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

นับตั้งแต่นายจุลพงษ์ ทวีศรี เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ก็เริ่มขยับการทำงานเพื่อแก้ปัญหาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่เสียหายและเน่าเหม็นในสายตาของประชาชนมานานนับสิบ ๆ ปี

Advertisment

โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหามลพิษที่โรงงานอุตสาหกรรมที่มาตั้งใกล้บ้าน ใกล้ชุมชน ทั้งปัญหาน้ำเสีย สารพิษ กลิ่นเหม็น เสียงดัง และปัญหาที่รุนแรงมากมายในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีปัญหาใดที่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

อย่างดีที่สุดที่อธิบดีกรมโรงงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเคยดำเนินการคือ การทุเลาความโกรธและเกลียดชังของชาวบ้านลงบ้างด้วยการสั่งแก้ไขโน่นนิดนี่หน่อยตามอำนาจหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (มาตรา 37 ของ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535)

แต่การแก้ไขของกรมโรงงานฯก็แค่ซื้อเวลาให้โรงงานที่กระทำผิด ยังทำผิดต่อไปได้ ไม่เคยมีปัญหาใดได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหาต่างๆจึงสั่งสมสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไม่จบสิ้น

จนกระทั่งนายจุลพงษ์ ทวีศรี ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง และประกาศจะนำพาการทำงานของกรมโรงงานให้เป็นไปตามนโยบายของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คือ ใช้หัวและใจ ปฏิรูปกระทรวง ตามแนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และเริ่มติดตามตรวจสอบกรณีปัญหาหลายเรื่องที่มีการร้องเรียนจากชุมชนเข้ามา การลุยพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน

Advertisment

และมีการสั่งหยุดกิจการของหลายโรงงานที่ตรวจพบว่ากระทำผิดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตประกอบกิจการด้านสิ่งแวดล้อมและการป้องกันชุมชนไม่ให้เดือดร้อนในพื้นที่ เช่นที่จังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ลพบุรี และโรงงานในอีกหลายจังหวัด

ชาวบ้านเริ่มมีความหวังว่าอธิบดีคนนี้จะเอาจริง ในการแก้ไขปัญหาที่สะสม หมักหมมยาวนาน แต่การเอาจริงของอธิบดี อาจจะไปเหยียบตาปลาของบรรดานายทุนเจ้าของโรงงานเข้าก็เป็นได้ จึงจะถูกสั่งย้ายในการประชุมครม.วันพรุ่งนี้ ใช่หรือไม่

ตัวอย่างกรณีปัญหาเรื้อรังที่นายจุลพงษ์เร่งสะสางปัญหาตามที่ได้รับปากประชาชนไว้ ได้แก่

1) การสั่งหยุดกิจการชั่วคราวโรงงานที่มีปัญหา ตัวอย่างปัญหาหนึ่งที่ดิฉันได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คือโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ของบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ กรุงเทพฯ

หลังจากชาวบ้านประชุมร่วมกับบริษัทหลายครั้ง แต่ทางบริษัทไม่สามารถแก้ปัญหากลิ่นเหม็นที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในหลายหมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่บ้านอิมพีเรียลปาร์คที่อยู่ใกล้โรงงานมากที่สุด

ดิฉันในฐานะอนุกรรมการบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เข้าไปตรวจสอบพร้อมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ตั้งแต่ปี2564 และสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ร่วมกับชาวบ้านหมู่บ้านอิมพีเรียบปาร์คร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

จน กกพ.มีคำสั่งให้กรุงเทพธนาคมหยุดการผลิตไฟฟ้าจากขยะ จนกว่าจะแก้ไขเรื่องกลิ่นเหม็นที่ก่อความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน และจนบัดนี้โรงงานนี้ยังไม่สามารถเปิดทำการได้ และกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็สั่งให้โรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะของบริษัทกรุงเทพธนาคมหยุดกิจการชั่วคราวเพราะยังแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นไม่ได้

2. อธิบดีคนนี้พยายามแก้ปัญหากากพิษและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จากกรณีความเสียหายของประชาชนและการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม บริเวณ ลำห้วยน้ำพุ หมู่ 1 ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งในพื้นที่นี้มีสวนผลไม้ของเกษตรกรได้รับความเสียหายนับร้อยไร่

เกษตรกรบางรายล้มละลายและไม่สามารถทำสวนผลไม้ต่อไปได้ เนื่องจากน้ำในลำห้วยและบ่อน้ำบาดาลปนเปื้อนสารพิษเป็นบริเวณกว้าง กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ตรวจพบสารพิษ ซึ่งมีบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็งปนเปื้อนในน้ำบาดาลในระดับที่น่าเป็นห่วง

ต้นเหตุเกิดจากกิจการของบริษัทหนึ่งที่มีโรงงานคัดแยก ฝังกลบกากอันตราย และโรงงานรีไซเคิลรวม 9 แห่งในพื้นที่ระหว่างตำบลรางบัวและตำบลน้ำพุของราชบุรี ที่ประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2544 และเริ่มก่อปัญหากลิ่นเหม็น-น้ำเสีย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่

โดยบริษัทลักลอบฝังกากพิษร่วม 2 แสนตันลงใต้ดินอย่างผิดกฎหมาย มีการเก็บสารเคมีอันตรายไว้ในโรงงานนับหมื่นๆ ตัน ชาวบ้านได้ตัดสินใจฟ้องคดีแพ่งแบบกลุ่มเมื่อต้นปี 2560 หลังจากที่ร้องเรียนไปยังทุกหน่วยงานของภาครัฐทุกระดับและกลไกรัฐสภาทุกกรรมาธิการ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ต่อมาศาลแพ่งตัดสินให้ประชาชนชนะคดีเมื่อเดือนธันวาคม 2563 และให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและแก้ปัญหาที่เกิดกับชาวบ้าน ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมยุคนั้นไม่ดำเนินการใดๆ สร้างความผิดหวังอย่างรุนแรงแก่ประชาชนผู้ฟ้องคดี

จนกระทั่งนายจุลพงษ์ ทวีศรีเข้ารับตำแหน่งในปลายปี 2565 จึงเริ่มหาแนวทางที่จะดำเนินการตามคำสั่งของศาล และประกาศจะทำให้การแก้ไขปัญหาของพื้นที่หมู่บ้านน้ำพุเป็น “ราชบุรีโมเดล” คือเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาของกรมโรงงานฯ ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เคยสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนที่มีโรงงานเป็นต้นเหตุ

ชาวบ้านที่นั่นต่างก็รู้กันดีว่าอธิบดีคนนี้กำลังคัดง้างกับบริษัทดังกล่าวที่ยังคงยืนกระต่ายขาเดียวจนทุกวันนี้ ที่จะไม่ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการขนย้ายกากพิษนับหมื่นตันออกนอกโรงงาน ใช่หรือไม่

3. ยังมีกรณีความเสียหายของประชาชนและการปนเปื้อนมลพิษ บริเวณหมู่ 4 บ้านหนองพะวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ที่สร้างความเสียหายให้กับสวนยางและสวนผลไม้ของชาวบ้านจากการลักลอบปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารพิษจากบริษัทในพื้นที่ ซึ่งทำให้หนองน้ำสาธารณะของชุมชน ปนเปื้อนสารพิษรุนแรง จนแหล่งน้ำนี้ใช้ประโยชน์ใดๆไม่ได้เลย

ต่อมาชาวบ้านหนองพะวา จำนวน 15 คน เป็นโจกท์ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายรวม 47.3 ล้านบาทจากบริษัทที่สร้างความเสียหาย เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ศาลได้ตัดสินให้ชาวบ้านหนองพะวาที่เป็นโจทก์ชนะคดีและให้บริษัทรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาตามคำร้องของโจทก์

นายจุลพงษ์เริ่มต้นผลักดันการเยียวยาประชาชนและการแก้ปัญหาการปนเปื้อนมลพิษจากบริษัทดังกล่าวอย่างจริงจัง มีการเรียกประชุมประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนบริษัท ที่ อบต. บางบุตร จังหวัดระยอง หลายครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น อธิบดีได้ลงตรวจพื้นที่หลายครั้ง เพื่อร่วมวางแผน สั่งการ ติดตามการแก้ปัญหา และหาทางกำจัดอุปสรรคด้านต่างๆ เพื่อให้มีความคืบหน้าการแก้ปัญหาตามที่ศาลตัดสินคดีไว้โดยเร่งด่วน

4. การติดตามเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทที่มีการลักลอบเก็บกากสารพิษจำนวนมหาศาล ในโกดังสารพิษที่อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการดำเนินโครงการบ่อฝังกลบขยะชุมชนที่ลักลอบฝังกากอันตรายจากอุตสาหกรรมในตำบลคลองกระจัง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ดำเนินการให้ปลอดภัย

จนชาวบ้านในพื้นที่ได้ฟ้องคดีปกครองเมื่อกลางปี 2565 และศาลได้พิพากษาในปีเดียวกันให้บริษัทดังกล่าวต้องรับผิดชอบแก้ปัญหาการปนเปื้อนของสารอันตรายในสิ่งแวดล้อมทั้งบนดินและใต้ดิน

ที่น่าจับตาคือกรมโรงงาน ในยุคของอธิบดีตงฉินคนนี้ ยังตรวจสอบพบว่า บริษัทที่แพ้คดียังกระทำผิดกฎหมายอีกหลายพื้นที่ ที่กรมควบคุมมลพิษเคยประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไว้ และหากจะต้องฟื้นฟูจะต้องใช้งบสูงถึงพันล้านบาท อธิบดีคนนี้ได้สั่งอายัดและเตรียมดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าว

การปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมคนปัจจุบันได้สร้างความหวังแก่ประชาชนหลายพื้นที่ว่าจะแก้ปัญหาเพื่อกอบกู้คืนสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยให้กลับคืนมาโดยเร็ว ทั้งยังมีการลุยตรวจโรงงาน สั่งการให้แก้ไขปรับปรุง และปิดกิจการชั่วคราวในกรณีที่โรงงานไม่สามารถแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้

แน่นอนว่าผลการทำงานเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาย่อมสะเทือนผลประโยชน์ของบริษัทหลายแห่ง ที่เคยมีอิทธิพลเหนืออธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดหลายคนในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยชาวบ้านโจษจันกันหนาหูว่า การปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมายของอธิบดีคนนี้ น่าจะไปกระทบผลประโยชน์ของนักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่สังกัดพรรคการเมืองใหญ่ด้วย
ใช่หรือไม่

เพราะการเหยียบตาปลากลุ่มทุนเจ้าของโรงงานที่แสวงหาความร่ำรวยจากการทำผิดกฎหมาย และทำลายสิ่งแวดล้อมใช่หรือไม่ ที่ร่วมกันลงขันดันให้นักการเมืองมาบีบให้โยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานคนปัจจุบันในการประชุมครม. ในวันพรุ่งนี้ ใช่หรือไม่

ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่อ้างทำเพื่อชาวบ้าน โปรดคิดให้จงหนัก สมควรรักษาคนดีให้อยู่ในตำแหน่งการแก้ไขความเดือดร้อนของชาวบ้านคือหัวใจของการบริหาร รัฐบาลหากต้องการได้ศรัทธาจากชาวบ้าน

ก็จงสนับสนุนคนดี คนกล้าที่ปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ชาวบ้าน ให้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ต่อไป เพราะเหลือเวลาปีเดียวที่อธิบดีคนนี้จะเกษียณอายุ จึงควรให้ทำงานต่อไปในหน้าที่โดยกระทรวงควรสนับสนุนให้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อกู้หน้าของกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลชุดนี้

หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงชาวบ้าน และจะย้ายอธิบดีกรมโรงงานคนปัจจุบัน ก็ต้องชี้แจงประชาชน ว่าใช้เหตุผลอะไรในการโยกย้ายอธิบดีที่มีผลงานเป็นความหวังของชาวบ้าน

ขณะที่นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นส่วนตัวผ่าน facebook เช่นเดียวกันว่า ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่แกะ คุณจุลพงษ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
คนเก่ง คนดี ของเรา

เรื่องส่วนตัว (เพิ่งสูญเสียคุณพ่อ (หลังจาก ก่อนหน้านี้ 1 เดือน เพิ่งสูญเสียคุณแม่ ไป)) แถมเรื่องงานในหน้าที่ แหล่งข่าวแจ้งว่า ยังจะมาเจอมรสุม จากนักการเมืองนอกกระทรวง มีแผนพยายามจะโยกย้าย ท่านอธิบดี กับ ระดับ ซี10 (บางท่าน) ที่ขยันวิ่งเต้นถึงขั้น มีการขู่ จะย้ายปลัดกระทรวง หากไม่ตอบสนอง การโยกย้าย จาก นักการเมืองนอกกระทรวง

อีกทั้งๆ ที่ผลงานของท่านอธิบดีเป็นที่ประจักษ์ ขยัน ทุ่มเท ซื่อสัตย์ในหน้าที่ เป็นที่ยอมรับของข้าราชการประจำ ในกระทรวงอุตสาหกรรม

กรุณาอย่าซ้ำเติม ปัญญาเศรษฐกิจของประเทศ ไปมากกว่านี้ เลย สังคมทุกภาคส่วน จะติดตาม และจับตามองการทำงานของข้าราชการทุกกรม ทุกกอง ทุกกระทรวงที่สามารถให้คุณ ให้โทษกับเอกชน และประชาชน และ ประเทศชาติ

ด้วยเหตุผลทางผลประโยชน์ส่วนตัว และ การตอบสนองนักการเมือง ตามระบบอุปถัมภ์ ค้ำจุน ที่ทำลายความมั่นคง และ ซ้ำเติมปัญญาเศรษฐกิจของประเทศ แค่ท่านเหล่านั้น คิด จะทำ ก็บาปแล้ว คนดี พระคุ้มครอง