โฉมใหม่สภาอุตฯ ยุค”สุพันธุ์” ดึงกรรมการประกบ11 สถาบันขับเคลื่อน 4.0

“สุพันธุ์” ประธานใหม่ ส.อ.ท. ขานรับนโยบาย “สมคิด” ส่งสมาชิกคลัสเตอร์ประกบ 11 สถาบันกระทรวงอุตฯ สานงานนโยบายรัฐ ตั้งธงการทำงาน 5 ยุทธศาสตร์ ดีเดย์ประชุมกรรมการนัดแรก 23 เม.ย.นี้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานเแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบายบริหารหลังจากรับตำแหน่งประธาน โดยเตรียมส่งตัวแทนจากผู้บริหารกลุ่มอุตสาหกรรม ส.อ.ท. เข้าร่วมทีมประสานการทำงานกับ 11 สถาบันภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องการให้กำหนดนโยบายในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ให้สอดรับกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และยา กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงกับสถาบันของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทันที โดยจะกำหนดให้มีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง

“รัฐมีงบประมาณ ส่วนเรามีวิสัยทัศน์ พอมานั่งคุยกันจะทำให้รู้ว่าเอกชนต้องการอะไร ทิศทางของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร โครงการรัฐมีอะไรบ้าง ภาคอุตสาหกรรมจะเข้าไปอยู่ตรงไหนได้บ้าง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคที่เคยมี ภาครัฐรับฟังปัญหาสิ่งที่เอกชนต้องการเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานในอนาคต เช่น ก่อนหน้านี้สามารถแก้ปัญหาเรื่องการออกใบอนุญาต รง.4 ได้แล้ว ส่วนในขณะนี้ ส.อ.ท.ต้องการให้ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมงานวิจัยมาใช้ได้จริง ขณะที่กองทุนช่วยเหลือด้านการเงินต่าง ๆ ถึงจะมีแต่ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร”

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ในวันที่ 23 เม.ย. 2561 จะเรียกประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท. 357 คน โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาร่วมเป็นประธาน และหารือกับคณะกรรมการ ส.อ.ท. เพื่อวางแนวทางที่จะช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปพร้อมกันภายใต้ Industry 4.0

รวมถึงการแก้ พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2530) ในประเด็นวิธีการเลือกตั้ง ซึ่งมีแนวทางที่จะให้เลือกประธานก่อนเลือกกรรมการ เพื่อลดความขัดแย้งที่เคยมีมาโดยตลอด จากนี้จะเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม รับทราบเพื่อพิจารณา เพื่อเตรียมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 8-10 เดือนจึงจะประกาศใช้

สำหรับนโยบายในวาระการดำรงตำแหน่ง (2561-2563) กำหนดไว้ 5 ยุทธศาสตร์ 1.เสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสภาอุตสาหกรรมฯ 2.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย 3.ส่งเสริม startup และยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 4.สร้างเสริมธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 5.ยกระดับองค์กรและพัฒนาบุคลากร ส.อ.ท.

ขณะนี้อุตสาหกรรมเปลี่ยน การบริโภคเปลี่ยน ผู้ผลิตต้องรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นแนวทางที่ดีคือการให้เอกชนทำงานร่วมกับภาครัฐให้ได้ มีการคิดค้นสินค้าใหม่ด้วยวิธีการใหม่ ๆ ขณะที่สมาชิกที่มีอยู่ประมาณ 11,000 ราย โดยเฉพาะรายเล็กต้องปรับตัวอย่างมาก ดึงรายเล็กเข้ามาสู่การรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ และดึงรายใหญ่อย่างกลุ่ม ปตท. บางจาก เครือสหพัฒน์ ไทยเบฟ ให้เป็นหนึ่งในกลุ่มพี่เลี้ยงน้อง (big brother)

ดึงรายเล็กเข้ามาสู่เครือข่ายเชื่อมโยงในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้ได้ รวมถึงการที่รายใหญ่จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วยเช่นกัน

“รายเล็กอยู่ไม่ได้แน่ ๆ เราต้องมีรายใหญ่และรัฐเข้ามาช่วย หากประเมินเศรษฐกิจปีนี้ถือว่าเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องของการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่มันคือระยะสั้น มีผลทั้งบวกและลบ แต่เราควรใช้โอกาสนี้เป็นตาอยู่หาช่องให้อุตสาหกรรมไทยได้ประโยชน์ เพราะเราไม่ใช่คู่ต่อสู้โดยตรง”

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้จะมีประชุมเพื่อที่จะเริ่มกำหนดภารกิจใหม่ ตามเป้าหมายที่จะทำงานระหว่างสถาบันภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ส.อ.ท.