ตรึงค่าไฟฟ้า ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย ส่องผลระยะสั้น-ระยะยาว รัฐต้องรับมือ

บิลค่าไฟ

นโยบายตรึงค่าไฟฟ้า ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย วงการไฟฟ้าแนะทางตั้งรับผลระยะสั้น-ระยะยาว กฟผ.-ปตท. ร่วมแบกภาระ หวั่นสุดท้ายประชาชาติต้องจ่ายคืน

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมไฟฟ้า เปิดเผยว่า การลดค่าไฟฟ้าในทางการเมืองระยะสั้น รัฐบาลอาจจะได้คะแนนนิยมในนโยบายการปรับลดค่าไฟฟ้า เพราะถูกใจประชาชน ผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะมีค่าใช้จ่ายไฟฟ้าที่ลดลงทันทีจากเดือนก่อนหน้า

แต่ในระยะต่อไปผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบว่า การปรับลดค่าไฟฟ้าที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ท้ายที่สุดประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้านั่นเองจะต้องเป็นคนที่จ่ายคืนภาระที่ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท.ช่วยแบกไว้ให้ทั้งหมด

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ปรับลดลงจาก 4.45 บาทต่อหน่วยเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย เป็นการทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กพพ.) ต้องนำมาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ.มาใช้เป็นครั้งแรก จากปกติที่ กกพ.ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายในการคิดคำนวณค่าไฟฟ้า (คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเป็น กฟผ.) ใช้เฉพาะมาตรา 65 ที่คำนวณตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง

สรุปสาระสำคัญของมาตรา 64 คือเป็นการคิดค่าไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐผ่านมติครม. โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นอัตราที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่

จากมติ ครม.ดังกล่าว ทำให้ กกพ.ต้องนัดประชุมกันอีกรอบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ในการปรับลดค่าเอฟทีลงจาก 66.89 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 20.48 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับลดลงมาเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย

เป็นเหตุทำให้ กฟผ.ยังไม่ได้รับคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 23,428 ล้านบาท และต้องให้ ปตท.มาช่วยรับต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติให้ กฟผ.ไปก่อนเป็นจำนวน 8,000-9,000 ล้านบาท โดย กฟผ.จะทยอยจ่ายคืนในภายหลัง

ประเด็นที่น่าติดตามก็คือ ในการคำนวณค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-กันยายน 2567 มีการส่งสัญญาณจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) มาแล้วว่าค่าเอฟทีจะต้องปรับสูงขึ้นจากงวดก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 20.48 สตางค์ต่อหน่วย และจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.99 บาทต่อหน่วย

เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น, อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าลง รวมทั้งยังมีต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต้องทยอยจ่ายคืนให้กับ กฟผ. ซึ่งปัจจุบัน ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.รับแทนประชาชนไปก่อนนั้นสูงถึง 138,485 ล้านบาท

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมไฟฟ้า กล่าวว่า หากรัฐบาลยังคงใช้นโยบายการตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ให้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนต่อไปอีก โดยใช้มติ ครม.เหมือนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทาง กกพ.ก็จะต้องใช้มาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ.อีกครั้ง

ผลที่จะตามมาก็คือ ภาระที่ทั้ง กฟผ.และ ปตท.จะต้องแบกรับจะเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งสุดท้ายประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องเป็นผู้ทยอยจ่ายคืนทั้งหมด โดยจะเป็นการจ่ายคืนด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น

ผลเสียของการตรึงราคาค่าไฟฟ้าครั้งนี้ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าควรจะต้องรับรู้คือ การทำให้ กฟผ.แบกรับภาระที่มากเกินไปจนมีปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และต้องมีการขอวงเงินกู้เงินเพิ่มขึ้น จะกระทบต่อเครดิตเรตติ้ง เจ้าหนี้ก็จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น การส่งผ่านต้นทุนไปยังค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องทยอยจ่ายคืนก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

“นโยบายตรึงค่าไฟฟ้าของรัฐบาล ไม่ได้ทำให้ภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงหายไป เพียงแต่มี กฟผ.และ ปตท.ช่วยแบกรับแทนไปก่อน ซึ่งในท้ายที่สุด ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องทยอยจ่ายคืนภาระก้อนนี้ทั้งหมดบวกด้วยดอกเบี้ย” แหล่งข่าวกล่าว