รู้จัก ‘ความตกลงการค้าไทย-เปรู ‘TPCEP’ พาณิชย์ตั้งเป้าสานต่อเจรจาสำเร็จ ปี 2567 

นายนภินทร ศรีสรรพางค์

‘นภินทร’ รมช.พาณิชย์ หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู สานต่อความตกลงการค้าไทย-เปรู ‘TPCEP’ ตั้งเป้าเจรจาสำเร็จในปี 2567 ดันผู้ประกอบการไทยยกทัพลงทุนอุตแปรรูปอาหาร หวังใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของสินค้าเกษตรเปรู 

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับนายฮวน คาร์ลอส แมทธิว ซาลาซาร์ (Mr. Juan Carlos Mathews Salazar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 34 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะสานต่อการเจรจาเขตการค้าเสรี ไทย-เปรู (Thailand-Peru Closer Economic Partnership : TPCEP) ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจะครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้าส่วนที่เหลืออยู่อีกร้อยละ 30 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด และการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น

“การดำเนินการเจรจา TPCEP นี้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลไทยปัจจุบันที่ต้องการผลักดันและขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จาก FTA ในกรอบต่าง ๆ ที่ไทยเป็นภาคีอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับภาคเอกชนไทยในการเข้าสู่ตลาดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกำหนดเป้าหมายให้มีการบรรลุผลเจรจาภายในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความพยายามและเร่งผลักดันให้เกิดผลลัพธ์การเจรจาที่เป็นรูปธรรม และสร้างแต้มต่อให้กับเอกชนของทั้งสองฝ่ายได้”

นายนภินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการหารือครั้งนี้ ไทยและเปรูยังได้หารือแนวทางการเสริมสร้างการลงทุนระหว่างกัน โดยที่เปรูเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสชาติและคุณสมบัติที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ เช่น องุ่นสด อะโวคาโด และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ที่สามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในด้านการแปรรูปอาหารเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าในเปรู ซึ่งหากการเดินหน้าสานต่อการเจรจา TPCEP เป็นไปอย่างราบรื่นและสำเร็จได้ ก็จะยิ่งช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยอีกมากในอนาคต

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เขตการค้าเสรี ไทย-เปรู (TPCEP) ภายใต้ข้อตกลงเร่งรัดการเปิดตลาดกันก่อน (Early Harvest Scheme: EHS) ในบางกลุ่มสินค้า ปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มีสัดส่วนการส่งออกที่ใช้สิทธิประโยชน์ฯ  ต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์ฯ มากเป็นอันดับ 1 จากความตกลงการค้าเสรีของไทยกับประเทศคู่ค้าทั้งหมดที่ร้อยละ 112.44

ADVERTISMENT

ในขณะที่สัดส่วนการนำเข้าที่ใช้สิทธิประโยชน์ฯ ต่อมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ได้รับประโยชน์ฯ มากเป็นอันดับ 1 เช่นกัน ที่ร้อยละ 95.87 โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกภายใต้สิทธิประโยชน์ TPCEP ได้แก่ ด้ายผสมกับฝ้าย ถุงยางคุมกำเนิด โพลิเอทิลีน ถุงมือใช้ในทางศัลยกรรม และเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง ในขณะที่สินค้าสำคัญที่นำเข้าภายใต้สิทธิประโยชน์ ได้แก่ องุ่นสดหรือแห้ง แครนเบอร์รี่ บิลเบอร์รี่ อะโวคาโด เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน เปรูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 58 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา รองจากบราซิล อาร์เจนตินา และชิลี ตามลำดับ โดยในปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยและเปรูมีมูลค่าการค้ารวม  361.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 7.75 โดยไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 203.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และนำเข้ามูลค่า 158.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT