วราวุธ ชี้ ไทยจะเข้าสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด เร่งพัฒนาคนทุกมิติ

วราวุธ ศิลปอาชา

“วราวุธ” เผยอีกไม่นานประเทศไทยจะเข้าสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Age Society) ซึ่งมีสัดส่วนเกิน 20% ของประชากร ชี้กระทรวง พม.พร้อมเดินหน้ายกระดับพัฒนาประเทศไทยทุกมิติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หนุนสร้างแวดล้อมที่อบอุ่นเพิ่มประชากรให้กับประเทศ

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และคนทุกกลุ่ม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ในงานสัมมนาหอการค้าไทยทั่วประเทศครั้งที่ 41 ว่า ประเทศไทยกำลังเจอปัญหามากมายที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาประเทศจากนี้ นอกจากมองมิติทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการพัฒนาทุกคนให้เดินไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ดังนั้น การพัฒนาคนทุกช่วงวัยเป็นสำคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยในปัจจุบันมีประชากรไทยกว่า 60 ล้านคน หรือราว 23 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้สูงอายุและผู้พิการกว่า 4 ล้านครัวเรือน และมีแม่เลี้ยงเดี่ยวกว่า 1 แสนครัวเรือน เด็กและเยาวชน 19 ล้านคน สตรีวัยทำงาน 20 ล้านคน LGBTQ+ 4 ล้านคน

ทั้งนี้ ประชากรผู้สูงอายุในปัจจุบันอยู่ที่ 12.8 ล้านคน เป็นสัดส่วน 14% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว และอีกไม่กี่ปี หากจำนวนประชากรเกิดใหม่ไม่เพิ่มขึ้นอีก ไทยก็จะเปลี่ยนสถานะประเทศเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Age Society) สัดส่วนเกิน 20% ของประชากร ประกอบกับระบบสาธารณสุขดี ผู้สูงอายุสุขภาพแข็งแรงด้วย ซึ่งเป็นภารกิจที่กระทรวงจะต้องเดินหน้าแก้ปัญหา

“สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ และก็กำลังจะเจอปัญหาโครงสร้างที่จะกระทบเศรษฐกิจไทย อายุวัยทำงาน 20-30 ปีจะลดลง และอีก 10 ปีจากนี้ปริมาณผู้สูงอายุในประเทศจะเพิ่มมากขึ้น 15-16 ล้านคน ปริมาณคนวัยทำงานจะน้อยลง และเมื่อถึงเวลานั้นภาคเอกชน เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการจะดำเนินการอย่างไรกับปัญหานี้”

การแก้ปัญหานี้ การให้ผู้สูงอายุกลับมาทำงาน มาใช้สมอง ใช้กำลังกาย เพื่อผู้สูงอายุเกิดคุณค่า และยังมีส่วนร่วมในสังคมและไม่ทำให้ผู้สูงอายุเป็นคนติดบ้าน จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้สูงอายุที่ทำงานมีเกือบ 12-13 ล้านคน มีไม่ถึง 5 ล้านคนที่ทำงาน กลายเป็นคนติดบ้าน และในท้ายที่สุดอาจจะกลายเป็นคนติดเตียง

โดยการทำงานของผมใน 2 กระทรวงที่ผ่านมา ผมดูสิ่งมีชีวิตครบประเทศไทย และการทำงานของผมได้สัมผัสทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ เราพร้อมสร้างความยั่งยืน ซึ่งมี 17 ข้อสำคัญ SDGs กับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย

ทั้งนี้ เรามีกฎหมายมาตรา 33 จ้างงานคนพิการ มาตรา 35 ส่งเสริมอาชีพคนพิการ หรือมาตรา 34 นอกจากนี้ เรามีเงินกองทุน 60,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือคนพิการ และแต่ละปีมีเงินเข้าไปประมาณ 1,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าคนพิการในประเทศไทยยังไม่ได้รับการจ้างงานเท่าที่ควร

ปัจจุบันมีการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการเอกชนประมาณ 66,000 คน และหน่วยงานของรัฐประมาณ 3,500 คน ซึ่งได้ขอความร่วมมือในการเพิ่มการจ้างงานให้มากขึ้น “คนพิการไม่ใช่คนด้อยโอกาส แต่คือซูเปอร์ฮีโร่ซึ่งมีความสามารถศักยภาพมากกว่าคนทั่วไป”

นายวราวุธกล่าวอีกว่า คนเกิดใหม่น้อยลงมากทำอย่างไรจะเพิ่มได้ แต่ปัญหาที่พบคือ คนในวัยทำงานกว่า 40-50% ไม่อยากจะมีลูก และคนแต่ละรุ่นมีมุมมองการมีครอบครัวต่างกัน บางกลุ่มมองว่าการมีครอบครัวคือกำลังใจ บางมุมมองมีลูกเยอะจะลำบาก กังวลถึงสังคมความปลอดภัย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คนรุ่นใหม่มองว่าครอบครัวเป็นภาระ ไม่อยากจะมีลูก ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกระทบต่อสังคม มีผู้สูงอายุมากขึ้น

โดยเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทรวงต้องการสร้างสังคมให้มีความอบอุ่น ไม่ใช่สังคมก้มหน้า โดยจะทำอย่างไรให้พ่อแม่ลูกมีกิจกรรมในครอบครัว เพื่อสร้างความอบอุ่น และกลไกของครอบครัว ซึ่งต้องย้อนไปที่สถาบันของครอบครัวให้มีความอบอุ่น และให้คนรุ่นใหม่มองว่าสังคมไทยยังมีความอบอุ่น และมีโอกาสให้คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา และอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นหัวใจสำคัญที่เราจะต้องร่วมมือและแก้ไขด้วยกัน

ธนินท์ เจียรวนนท์ มั่นใจฝีมือรัฐบาล เศรษฐา หนุนแจกเงิน 10,000 บาท