ภูมิธรรมเตรียมยื่น ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.ประมง แก้ปัญหา IUU

ภูมิธรรม เวชยชัย

“ภูมิธรรม” เตรียมชง ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.ประมง ที่รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมาย และช่วยเหลือชาวประมง เห็นผลงานใน 99 วันหลังเข้ามาทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ด้าน “ปลอดประสพ” เร่งแก้ปัญหากฎหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลก่อน สร้างความเสียหายสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาทใน 8 ปีที่ผ่านมา

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง ว่าความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาประมงทะเลไทยหลังจากที่แต่งตั้งคณะกรรมการมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และได้เห็นถึงผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นนับแสนล้านบาท ในกรณีที่ไทยพยายามแก้ไขปัญหาและกำหนดกฎระเบียบเพื่อให้เป็นไปตามการทำประมงของ IUU

ทั้งนี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล ที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะนำร่างกฎหมายที่เคยจัดทำร่วมกันไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ระหว่างพรรคเพื่อไทยและสมาคมประมงต่าง ๆ กลับมาพิจารณาปรับปรุง เพิ่มเติม เพื่อให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ขึ้น ให้เสร็จสิ้นภายใน 99 วันแรกของการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้

ล่าสุด การดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมาย ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงชุดนี้ คาดว่าประมาณวันที่ 15 ธันวาคม 2566 เพื่อมีมติให้ส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป และเชื่อว่าจะสามารถเข้าสู่ประชุมรัฐสภาพิจารณาได้ในต้นปี 2567 แน่นอน และเชื่อว่ารัฐบาลจะเห็นชอบ

อย่างไรก็ดี ผมยังได้หารือกับท่านทูตอียูประจำประเทศไทย โดยแจ้งให้ท่านทราบว่า ที่ผ่านมาไทยปรับปรุงแก้ไขการทำประมง เพื่อให้ถูกต้องตามกฎกติกาของอียู และระดับสากล แต่กลับส่งผลกระทบและทำลายอุตสาหกรรมประมงไทย จากที่เป็นผู้ส่งออกได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ปัจจุบันต้องมีการนำเข้า อียูจะช่วยเหลือและเยียวยาเราอย่างไร

ส่วนด้านการเจรจาอียู อียูจะเห็นด้วย หรือจะให้ธงเหลือง ธงแดงกับไทยอีกหรือไม่นั้น นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นเรื่องที่จะต้องเจรจา เชื่อมั่นว่าจะเจรจาได้ และเชื่อมั่นเพราะนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเจรจาเป็นผู้มีความรู้ และเชี่ยวชาญเรื่องการประมงอยู่แล้ว

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเตรียมร่างพระราชบัญญัติการประมงของรัฐบาล ว่าสาระสำคัญในเรื่องของการแก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา IUU Fishing พ.ศ. 2558 ซึ่งมีปัญหาในการบังคับใช้หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการตราพระราชกำหนดขึ้นบังคับใช้อย่างเร่งด่วน และไม่ได้รับการศึกษาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน

ส่งผลให้มีผู้ประกอบการประมงถูกดำเนินคดีนับหมื่นราย และมีเรือประมงกว่า 3,000 ลำ ถูกบังคับให้ต้องจอดเรือ ทำให้ผู้ประกอบกิจการประมง รวมไปถึงลูกจ้าง ไม่สามารถประกอบอาชีพได้

อีกทั้งมีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานน้ำแข็ง ห้องเย็น สถานีน้ำมัน สะพานปลา ตลาดปลา แพปลา และท่าเทียบเรือ นับหมื่นราย และยังนำมาสู่การประสานการทำงานเพื่อศึกษาและนำร่างกฎหมายที่พรรคเพื่อไทยและสมาคมประมงได้จัดทำร่วมกันตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว มาดำเนินการเพื่อผลักดันสู่การประกาศใช้เพื่อบรรเทาปัญหาอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ คณะกรรมการได้มีการปรับปรุง และยกเลิกกฎหมายลูกหลายฉบับที่สามารถทำได้ก่อนไปแล้วด้วย โดยมีการแก้ไขกฎหมาย 33 มาตรา ยกเลิก 2 และเพิ่มเติม 6 มาตรา รวมทั้งสิ้น 41 มาตรา เพื่อลดผลกระทบที่สร้างความเสียหายปีละกว่า 3-4 แสนล้านบาท ติดต่อกันมา 7-8 ปี รวมความเสียหาย 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งคนไทยกว่า 2-3 แสนคนที่เป็นชาวประมง ผู้ประกอบการ-แรงงานในโรงงานที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะในจังหวัดชายฝั่งที่ติดทะเล จึงเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ

“การแก้กฎหมายประมงครั้งนี้ ระยะสั้นเร่งแก้กฎหมาย และที่อยู่ในอำนาจ 17 เรื่อง เช่น กฎหมายสถานการณ์ที่ประมง การทำบันทึกการทำประมง การแจ้งเข้า-ออก สุขอนามัย การติดตาม เป็นต้น และจะมีการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาประมงที่บังคับใช้ขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมด้วย”

นอกจากนี้ การพิจารณากฎหมายในรัฐสภาจะดำเนินการควบคู่กับการเจรจากับต่างชาติให้ยอมรับในแนวทางของไทย เชื่อว่าหากทั้ง 2 ส่วนบรรลุตามเป้าหมาย จะสามารถคืนความเป็นธรรมให้ชาวประมง และฟื้นคืนชีวิตให้อุตสาหกรรมประมงได้สำเร็จ

นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า คณะกรรมการประมงแห่งชาติ ยังได้ยกเลิกคำสั่งที่ไม่เห็นชอบด้วยกฎหมาย 8 เรื่อง หรือคำสั่งทาส ซึ่งเกี่ยวกับไอยูยู 3 เรื่อง ที่ให้อำนาจจับกุม ติดตามประมงผิดกฎหมาย ทั้งนี้ การแก้ไขดังกล่าว ชาวประมงพอใจ และอยากให้กฎหมายออกมาบังคับใช้ได้สำเร็จ