รัฐเร่งฟื้นประมงไทยสู่เบอร์ 1 ผ่อนคลายเงื่อนไข-คุมเข้มวัตถุดิบนำเข้า

ประมง

“ภูมิธรรม” นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงไทยฯ เอกชนออกโรงวอนรัฐ ทบทวนกฎหมายลดอุปสรรคอาชีพประมง และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน หวังดันไทยทวงตำแหน่งเบอร์ 1 ปั๊มรายได้เข้าประเทศ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ภายหลังจากรัฐบาลใหม่ภายใต้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566

โดยมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน อธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการ และเลขานุการ เพื่อแก้ไขปัญหาประมงภายในประเทศ และพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศและประชาชน

พร้อมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลฯ ได้ประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบให้กำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายการทำงาน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ

ล่าสุด นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม และที่ปรึกษาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตัวแทนภาคประมงต่างสะท้อนปัญหาการทำประมง จากเดิมไทยเคยเป็นอันดับ 1 ในน่านน้ำ แต่ปัจจุบันไทยเป็นศูนย์ ทั้งยังมีตัวแทนภาคประมงบางกลุ่มที่แสดงความกังวลต่อการนำเข้าวัตถุดิบสัตว์น้ำจากต่างประเทศ

โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก IUU Fishing ซึ่งวัตถุดิบที่นำเข้ามานั้นปลอดภาษี มีต้นทุนถูกกว่าประเทศที่ดำเนินการตาม IUU อย่างประเทศไทย จึงส่งผลกระทบต่อการทำประมงภายในประเทศ

ซึ่งในส่วนของสมาคมประมงสมุทรสงครามได้เสนอความเห็นให้คณะทำงานกลุ่มย่อยภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลฯ ว่า ขอให้คณะกรรมการเข้ามาติดตามดูแลปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบ โดยการกำหนดมาตรฐาน และกำหนดเพดานราคาให้มีความเหมาะสม เพื่อให้สินค้าประมงแข่งขันได้ พร้อมทั้งขอให้พิจารณาทบทวนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกำหนดขั้นตอน และเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการทำประมงในไทย

โดยเฉพาะประกาศต่าง ๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดขึ้น จำเป็นต้องนำกลับมาทบทวน หากประกาศอะไรเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพประมง ก็ควรแก้ไขให้ผ่อนคลายมากขึ้น พร้อมทั้งวางแผนการเจรจากับต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นเจ้าสมุทร และเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลกอีกครั้ง

ส่วนมาตรการควบคุม และปราบปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมายเห็นว่ายังคงต้องดำเนินการดูแลต่อไป การจัดระเบียบการทำการประมงทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในเชิงพื้นที่ ในเชิงเวลา การจัดระเบียบเครื่องมือประมง การมุ่งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงการดูแลชาวประมงพื้นบ้าน ควบคู่กับการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงและความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย

“หลักการกฎหมาย IUU Fishing คือ ให้ไทยรายงาน ควบคุม และตรวจสอบย้อนกลับซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของทุกประเทศที่จะต้องทำตาม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็ดำเนินการอย่างเคร่งครัดและต้องดูแลต่อไป”

พร้อมกันนี้ ได้เสนอให้ภาครัฐเร่งแก้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่ยังมีบทโทษรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะกรณีเรือประมงทําผิดโดยไม่เจตนา แต่ต้องถูกปรับหลายล้านบาท และในระหว่างการพิจารณาแก้กฎหมายประมง ขอให้แก้กฎหมายลูกที่มีปัญหาในการทำประมงภายใน 90 วัน รวมถึงการช่วยเหลือในการนำเรือออกนอกระบบ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมอาชีพประมงมากขึ้น ทั้งอาชีพชาวประมง แรงงานประมง อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ซึ่งที่ผ่านมาต่างพบว่ามีเงื่อนไข และขั้นตอนที่ซับซ้อน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายมากจากการเพิ่มความเข้มงวดในการดูแล ทำให้คนที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้ทำได้ยาก หากสามารถแก้ไขได้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดอาชีพ และดำเนินนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม การปัญหาระยะยาว คือ การขาดแคลนแรงงานภาคประมง ซึ่งชาวประมงมีการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว หรือ name list ให้กับภาครัฐ เพราะขณะนี้แรงงานดังกล่าวสามารถทำงานได้เฉพาะบนฝั่ง ซึ่งประเด็นนี้ชาวประมงต้องการให้แก้ไขเพื่อให้แรงงานประมงที่ขึ้นทะเบียนไว้ 400 รายสามารถทำงานในเรือประมงได้ด้วย

และในอนาคตควรต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชาวประมง เนื่องจากไต้ก๋งเรือปัจจุบัน ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 50 ปี ใกล้ที่จะเกษียณอายุ ขณะที่ไต้ก๋งเรือรุ่นใหม่ก็แทบไม่มี เพราะไม่มีการส่งเสริม อีกทั้งติดขัดเรื่องข้อกฎหมายในการประกอบอาชีพด้วย