นลินี ผู้แทนการค้าไทย เล็งเจรจาอินโดฯ เปิดน่านน้ำใหม่ ฟื้นอุตฯ ประมง

นลินี ทวีสิน
นลินี ทวีสิน

นลินี ทวีสิน ที่ปรึกษานายกฯ-ผู้แทนการค้าไทย เล็งเจรจาอินโดนีเซียเปิดน่านน้ำทำประมงใหม่ หลังปิดตายตั้งแต่ปี’57 ฟื้นการอุตสาหกรรมประมงมูลค่ากว่า 30,000 ล้าน

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นางนลินี ทวีสิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและผู้แทนการค้าไทย ในฐานะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมประมง เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 66 ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พณ. เป็นประธาน และตนร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างประเทศ

จะเข้ามารับผิดชอบเรื่องการเจรจากับต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญภายใต้คณะอนุกรรมการ 6 ด้านที่จะตั้งขึ้น มีเป้าหมายเพื่อนำประเทศไทยกลับมาเป็นเจ้าสมุทรอีกครั้ง

นางนลินีกล่าวว่า สำหรับการเจรจาระหว่างประเทศตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งไปที่การสร้างความร่วมมือกับคู่เจรจา เช่น การขอเปิดน่านน้ำอินโดนีเซีย และการลดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น การบังคับติดตั้งวิทยุขาวดำบนเรือ

นางนลินีกล่าวว่า โดยการเจรจากับอินโดนีเซียนั้น ที่ผ่านมาไทยเคยมีเรือประมงเข้าไปทำประมงในเขตน่านน้ำอินโดนีเซียกว่า 1,000 ลำ นำทรัพยากรกลับมายังประเทศไทยปีละกว่า 600,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท จากนั้นอินโดนีเซียได้ปิดน่านน้ำไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปทำการประมงตั้งแต่ปี 2557 แต่ขณะนี้มีแนวโน้มที่จะเปิดน่านน้ำอีกครั้ง

“เราจึงต้องใช้โอกาสนี้เข้าไปเจรจาเพื่อร่วมมือกัน เพราะอินโดนีเซียมีแนวทางที่จะเปิดให้ต่างชาติเข้าไปร่วมลงทุนกับกิจการประมงของอินโดนีเซียแบบครบวงจร และอนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานบนเรือประมงได้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับไทย

ช่วยเพิ่มผลผลิตลดการนำเข้า สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปและส่งออก ทำให้เกิดการหมุนทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาทต่อไป และจะมีการจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมให้กับทางอินโดนีเซียด้วย” นางนลินีกล่าว

นางนลินีกล่าวว่า นอกจากนี้ การเจรจาระหว่างประเทศจะต้องไม่สร้างความขัดแย้งหรือกระทบกระทั่งกับคู่เจรจาอย่างกรณีของอียู และต้องใช้เวทีการหารือระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ อย่างเช่นการประชุมระดับผู้นำ APEC 2023 ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

โดยคำนึงถึงการเคารพกฎหมาย ผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับ และการสร้างความมั่นคงยั่งยืน (Sustainability) ให้กับทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันด้วย

“แม้เราจะส่งออกสินค้าอาหารทะเลแปรรูปเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีรายได้มากกว่าแสนล้านบาทต่อปี แต่ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประมงได้รับผลกระทบจากกฎกติการะหว่างประเทศ เมื่อเรารับฟังปัญหาแล้วจึงต้องเร่งแก้ไข

เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวประมงและผู้ประกอบการ ทั้งประมงพื้นบ้าน ชายฝั่ง และพาณิชย์ เราพบว่าตัวเลขส่งออกสินค้าประมงลดลงและต้องนำเข้ามากขึ้น คนทำอาชีพประมงน้อยลง โรงงานขนาดเล็กต้องปิดตัว ทะเลหลวงเดินทางไม่สะดวก และยังมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงอีกมากกว่า 1,000 คดี ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลตั้งใจเข้ามาสะสางและช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด” นางนลินีกล่าว