“ภูมิธรรม” ตั้ง 6 อนุกรรมการ หวังฟื้นประมงไทยกลับมาเป็นเจ้าสมุทร

ภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม เวชยชัย

ภูมิธรรมเผยเตรียมชงตั้งกองทุนชดเชย ประมงที่ได้รับผลกระทบจากไอยูยู พร้อมตั้งกรรมการ 4 ชุด รับมือภัยแล้ง-ตั้งศูนย์อำนวยการเกาะติดสถานการณ์รายวัน พร้อมทำแผนเผชิญเหตุ

วันที่ 29 กันยายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมงครั้งที่ 1/2566 ว่าจากการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 ต่อรัฐสภา ด้านการประมง โดยรัฐบาลมีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศและประชาชนอีกครั้ง

ด้วยการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้ให้เหมาะสม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างยั่งยืน

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการทำงาน ยุทธวิธี และการแบ่งงาน โดยจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการจำนวน 6 คณะ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นเจ้าสมุทรและเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลกอีกครั้ง, การวางแผนการเจรจากับต่างประเทศ เร่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน จัดระเบียบการทำการประมง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในเชิงพื้นที่ ในเชิงเวลา การจัดระเบียบเครื่องมือประมง

นอกจากนี้ เตรียมหารือกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อจัดตั้งกองทุนเยียวยาประมงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา IUU เพื่อช่วยเหลือประมงรายย่อย พื้นบ้าน และรายใหญ่ ส่วนจะนำงบฯมาจากไหนอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมุ่งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมง การดูแลชาวประมงพื้นบ้าน ควบคู่กับการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ภายใต้บริบทการทำประมงของไทยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนมั่นคงในการประกอบอาชีพประมง และความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ

ตั้งรับภัยแล้ง

นอกจากนี้ นายภูมิธรรมกล่าวถึงการประชุม คณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ของประเทศไทยวันนี้ (29 ก.ย.) ว่าปรากฎการ์เอลนีโญและลานีญามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นยาวนานต่อเนื่องถึง 3 ปี ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนและทุกภาคส่วน เบื้องต้นที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งกองอำนวยการขึ้นมาติดตามสถานการณ์เป็นรายวัน โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมอุตนิยมวิทยาเป็นประธาน โดยใช้กระทรวงพาณิชย์เป็นศูนย์อำนวยการ

รวมทั้งให้จัดทำระบบเตือนภัยภิบัติ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ และจัดทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อลดผลกระทบ รวมทั้งแผนฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

“กรมอุตุฯจะต้องเกาะติดสถานการณ์เป็นรายวัน วางระบบว่าจะประกาศเตือนภัยอย่างไรให้ทันต่อเหตุการณ์ และรัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาระงับโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่เห็นผลในเร็ว ๆ นี้ออกไปก่อน เพื่อโยกงบประมาณดังกล่าวเข้ามาใช้ในการดูแลและแก้ปัญหาภัยแล้งก่อน เช่น การเร่งสร้างแหล่งน้ำ การสร้างจุดพักรอน้ำ เป็นต้น”

นอกจากนี้ ให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการย่อย 4 ชุดคือ อนุกรรมการวิชาการ เพื่อติดตามและประเมินการเกิดภาวะเอลนีโญและลานีญา อนุกรรมการประเมินผลกระทบ ทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว พร้อมมาตรการเผชิญเหตุ และบรรเทาผลกระทบเบื้องต้น อนุกรรมการประชาสัมพันธ์และแจ้งการแจ้งเตือนสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา และอนุกรรมการ เพื่อตรวจเยี่ยมและยืนยันผลกระทบเฉพาะพื้นที่

ซึ่งจะทำงานร่วมกับพื้นที่และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำหน้าที่กำหนดมาตรการเร่งด่วนสำหรับป้องกันความเสียหายที่มีต่อประชาชน และเศรษฐกิจประเทศ เสนอต่อคณะกรรมการ