เรือประมงอินโดลอบจับปลาน่านน้ำไทย ชี้คุมเข้มกฎ IUU ทำสัตว์ทะเลเพิ่ม

เรือประมงอินโดนีเซีย

เรือหลวงแกลง จับกุมเรือประมงอินโดนีเซีย 3 ลำ ลักลอบจับปลาทู ในเขตน่านน้ำไทยฝั่งอันดามัน หลังคุมเข้มกฎ IUU Fishing ทำสัตว์น้ำในทะเลเพิ่ม

วันที่ 9 ตุลาคม 2566 พลเรือโท สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3/ผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3/ผบ.กองเรือปฏิบัติการ ทัพเรือภาคที่ 3 แถลงข่าวการจับกุม เรือประมงอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำ พร้อมลูกเรือ 40 คน ลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ศรชล.ภาค 3 เข้าร่วม ณ ท่าเรือรัษฎา อำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ต

จับเรือประมงสัญชาติอินโดฯ 3 ลำ

พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3/ผบ.กองเรือปฏิบัติการ ทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า การปฏิบัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของทัพเรือภาคที่ 3 เป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ให้มีการบูรณาการประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแล โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 ซึ่งในเรื่องของการป้องกันการกระทำความผิดลักลอบเข้ามาทำการประมงผิดกฎหมาย

โดยเฉพาะเรือประมงของประเทศเพื่อนบ้านอินโดนีเซีย เข้ามาในพื้นที่เป็นประจำ การปฏิบัติการได้ทำการลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา18.30น. ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่ว่า ตรวจพบกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียจำนวน 3 ลำ มีพฤติกรรมเข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย บริเวณทางทิศตะวันตกจากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ตระยะประมาณ 46 ไมล์ทะเล

จากนั้น พลเรือโท สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 และ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 จึงได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 จัดเครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 (DO-228) สนับสนุนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 ขึ้นบินลาดตระเวนตรวจสอบกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียดังกล่าว

ให้ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดภูเก็ต แจ้งศูนย์ PIPO ภูเก็ต เพื่อแจ้งเรือประมงไทย ที่ทำการประมงในพื้นที่เฝ้าสังเกตการณ์และติดตามพฤติกรรมของกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย รวมทั้งให้หมวดเรือเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 จัดเตรียมเรือหลวงแกลง ซึ่งเป็นเรือในบัญชีกำลัง ให้พร้อมออกเรือปฏิบัติภารกิจเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม

ต่อมาเวลา 11.50 น. เครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 ได้รายงานการตรวจพบเรือประมงสัญชาติอินโดนีเชีย จำนวน1 ลำ บริเวณทางทิศตะวันตกจากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ระยะประมาณ 55 ไมล์ทะเล

เวลา 14.30 น.เรือหลวงแกลง ออกเรือตรวจสอบ เรือประมงสัญชาติอินโดนีเชียบริเวณทางทิศตะวันตกจากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ระยะประมาณ55 ไมล์ทะเลตามข้อมูลที่ได้รับรายงานจาก เครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1

ต่อมา วันที่ 8 ตุลาคม 2566 ระหว่าง เวลา 06.00-08.30 น. เรือหลวงแกลงเข้าตรวจค้นและจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำ ทางทิศตะวันตกจากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ระยะประมาณ 75.8 ไมล์ทะเล

จากการตรวจสอบเบื้องต้นเรือประมงอินโดนีเซียทั้ง 3 ลำเป็นเรือประเภทอวนล้อม จับสัตว์น้ำ ในระวางเป็นปลาทู ปลาทูข้างเหลือง ปลาอีโต้มอญ ซึ่งเรือทั้ง 3 ลำ ประกอบด้วย

  • ลำที่ 1 ชื่อ KM.RAHMATJAYA พร้อมลูกเรือ รวมจำนวน 12 คน
  • ลำที่ 2 ชื่อ KM.IKHLASBARU พร้อมลูกเรือ รวมจำนวน 16 คน
  • ลำที่ 3 ชื่อ KAMBIASTAR พร้อมลูกเรือ รวมจำนวน 12 คน

โดย เรือหลวงแกลง ทำการควบคุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย ทั้ง 3 ลำ พร้อมลูกเรือ รวมจำนวน 40 คน กลับเข้าฝั่ง ณ ท่าเรือรัษฎา จังหวัดภูเก็ต ในวันนี้ (9 ต.ค.) เพื่อนำส่งให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรฉลอง ดำเนินคดีตามกฎหมาย และเมื่อศาลพิพากษาคดีจะต้องมีการส่งกลับ ซึ่งการดำเนินการกับเรือประมงเข้ามาทำการประมงผิดกฎหมาย ได้จับกุมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนในการปฏิบัติ และเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศอย่างเต็มขีดความสามารถ ภายใต้การบริหารจัดการและเป็นไปตามนโยบาย ของผู้บัญชาการทหารเรือ

ที่ผ่านมา ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า มีเรือเข้ามาลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทยในแต่ละปี ได้รับแจ้งมากกว่า 10 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเข้ามาลักลอบขโมยอุปกรณ์ดักจับปลาของชาวประมงไทยที่วางดักปลาไว้ เมื่อได้รับแจ้งจะนำเรือออกไปจับกุม แต่เรือเหล่านั้นหนีออกไปยังน่านน้ำอินโดนีเซียไม่สามารถจับกุมได้ทัน สร้างความเสียหายให้กับชาวประมงไทยอย่างมหาศาล

สถิติการจับกุม ในปีงบประมาณ ปี 2564 ศรชล.ภาค 3 จับกุม เรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียลักลอบเข้าทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย จำนวน 1 ครั้ง ในปี งบประมาณ 2565 ศรชล.ภาค 3 จับกุม เรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียลักลอบเข้าทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย จำนวน 3 ครั้ง

คุมเข้มกฎ IUU Fishing ช่วยทำให้มีสัตว์น้ำเพิ่ม

ในปีงบประมาณ 2566 จับกุมเรือประมงต่างชาติ จำนวน 2 ครั้ง ประกอบด้วย เรือประมงสัญชาติมาเลเซียจำนวน 2 ลำพื้นที่จังหวัดสตูลและเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย 2 ลำพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และในครั้งนี้ จับกุมเรือประมง สัญชาติอินโดนีเซียจำนวน 3 ลำ ลูกเรือ 40 คน

“การจับกุมเรือประมงต่างชาติ ที่มีพฤติกรรมเข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยด้านฝั่งทะเลอันดามัน ที่ผ่านมานั้น ได้มีการจับกุมมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งได้แจ้งให้ สำนักงานผู้ช่วยทูตทหารเรือประจำประเทศอินโดนีเซีย เพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนเรือประมงของประเทศอินโดนีเซียว่า อย่าได้รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศไทย เพราะต้องถูกจับกุม ดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศไทยอย่างเคร่งครัด เป็นส่วนหนึ่งที่จะลดปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น

หลังจากที่ มีการดำเนินการควบคุมทำการประมงในพื้นที่ในเรื่องของ IUU Fishing จะเห็นว่าสัตว์น้ำในประเทศไทยเริ่มมีปริมาณมากยิ่งขึ้น ตรงนี้เองอาจเป็นแรงจูงใจทำให้ชาวประมงเข้ามาทำการประมงในประเทศไทย และ จะต้องเข้าไปตรวจสอบปลาที่จับขึ้นมาว่าในประเทศอินโดนีเซียมีหรือไม่

ที่ผ่านมาทุกครั้งจะมีการรายงานไปทางกองทัพเรือเพื่อประสานกลับไปทางกระทรวงการต่างประเทศ และประสานไปยังประเทศอินโดนีเซีย แจ้งเตือนว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้นผิดกฎหมายของประเทศไทย

ทั้งนี้ในส่วนของกองทัพเรือได้แจ้งไปที่สำนักงานผู้ช่วยทูตทหารเรือที่กรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย เพื่อประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานและภาครัฐของอินโดนีเซีย ให้แจ้งทำความเข้าใจกับชาวประมงอินโดนีเซียว่าอย่าได้เข้ามารุกล้ำทำการประมงในประเทศไทย ในส่วนอัตราโทษขึ้นอยู่กับข้อพิพากษาทางกฎหมายอาจมีการปรับ หรือจำคุกขึ้นกับดุลพินิจของศาลในการพิจารณา

ทั้งนี้ ศรชล.ภาค 3 ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลฝั่งอันดามันซึ่งเป็นรายได้หลักของประชาชนฝั่งทะเลอันดามันอย่างเต็มกำลังความสามารถ

หากท่านพบเห็นการกระทำความผิดในทะเลทรัพยากรทางทะเลถูกทำลาย เหตุด่วน เหตุร้ายหรือต้องการความช่วยเหลือทางทะเลโปรดแจ้ง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 หรือ ศรชล.ภาค 3 สายด่วนฮอตไลน์ 1465 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ศรชล.ภาค 3 จะเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นโดยทันที” พลเรือตรี ภุชงค์ กล่าว