กรมประมงประกาศปิดอ่าวไทย 2 ช่วงเวลา ช่วยเพิ่มปริมาณปลาทู 63%

ประมงไทย

กรมประมงประกาศปิดอ่าวไทย 2 ช่วงเวลา ช่วงแรก ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม 2566 ช่วงที่สอง ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. 2566 ชี้มาตรการช่วยเพิ่มและฟื้นฟูทรัพยากรปลาทู 63% มูลค่า 2 พันล้าน

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 รายงานข่าวระบุกรมประมง ออกประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง (มาตรการปิดอ่าว) โดยครอบคลุมเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นเวลา 2 ช่วง

คือ ช่วงแรก ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ 26,400 ตารางกิโลเมตร เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูได้วางไข่

และช่วงที่สอง อาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 5,300 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. 2566 เพื่อให้ลูกปลาทูได้มีโอกาสเจริญเติบโตเดินทางเข้าสู่พื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน

เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์
เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจโดยเฉพาะปลาทู ให้สามารถวางไข่ แพร่ขยายพันธุ์ และคุ้มครองลูกสัตว์น้ำให้สามารถเจริญเติบโตทดแทนสัตว์น้ำที่ถูกจับไป ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญของกรมประมงที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 และได้มีการปรับปรุงประกาศให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา

​โดยปัจจุบันนี้ใช้ประกาศ ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดพื้นที่ และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยแบ่งการใช้มาตรการออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 วันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม 2566 เป็นระยะเวลา 90 วัน

และช่วงที่ 2 ต่อด้วยอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. 2566 เป็นระยะเวลา 30 วัน โดยห้ามใช้เครื่องมือที่มีผลกระทบต่อพ่อแม่พันธุ์และลูกพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มเรือประมงขนาดเล็กซึ่งไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง ดังนี้

(1) เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืนและทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

(2) เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป

สำหรับกรณีการทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งความยาวอวนที่ใช้จะต้องไม่เกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ และหากจะใช้ความยาวอวนเกินกว่า 2,500 เมตร จะต้องใช้บริเวณนอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น

(3) เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง

(4) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

(5) ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด

(6) ลอบหมึกทุกชนิด

(7) ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง

(8) คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด

(9) อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวง

(10) จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง

(11) เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือตามประเภท วิธีการทำการประมงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ทำการประมง ยกเว้น อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ที่ไม่สามารถทำการประมงได้

​สำหรับช่วงที่ 2 (16 พ.ค.-14 มิ.ย. 2566) มีข้อกำหนดที่เป็นรายละเอียดมากกว่าข้างต้น ดังนี้

• อนุญาตให้เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง ไม่ได้จำกัดความยาวของเรือที่ใช้ทำการประมง และเวลาในการทำการประมง ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งของพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี

• เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ประกอบเรือกล ที่มีขนาด 10 ตันกรอส อนุญาตให้ทำการประมงได้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เฉพาะบริเวณเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

​ทั้งนี้ ปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยปีที่ผ่านมา (ปี 2565) จับได้ถึง 31,999 ตัน มูลค่า 2,156.01 ล้านบาท มากกว่าผลจับของปี 2564 (19,598 ตัน มูลค่า 1,375.38 ล้านบาท) ถึง 12,402 ตัน มูลค่า 780.63 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63.28 ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงถึงความเหมาะสมของการใช้มาตรการปิดอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม ในการติดตามประเมินผลทางวิชาการของมาตรการพบว่า ในห้วงเวลาก่อนการประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลาง ช่วงวันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ พบพ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศในอัตราที่สูง ติดต่อกัน 2 ปี (ปี 2564 และปี 2565) โดยในปี 2564 พบมากถึง ร้อยละ 90.60 (เพศเมีย) 90.37 (เพศผู้) และปี 2565 ร้อยละ 100 (เพศเมีย) 87.04 (เพศผู้)

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปลาทูมีความสมบูรณ์เพศก่อนช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง และพบความยาวเฉลี่ยของ พ่อ-แม่ ปลาทูอยู่ที่ 18.5 เซนติเมตร ซึ่งพร้อมสืบพันธุ์วางไข่ จึงมีข้อเสนอแนะทางวิชาการว่าเห็นควรปรับปรุงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และให้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

​อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้กระทบต่อชาวประมง กรมประมงจึงคงใช้มาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง ตามประกาศฉบับเดิม ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดพื้นที่ และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ กรมประมงจะมีการศึกษาทางวิชาการอย่างต่อเนื่องและรอบด้านเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป ดังนั้น ในช่วงวันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2566 (ก่อนมาตรการปิดอ่าว) กรมประมงจึงขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวประมงช่วยกันคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทู เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้

​สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดมา และขอให้พี่น้องชาวประมง ระมัดระวังการทำประมงโดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น เครื่องมืออื่น ๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 30 ล้านบาท

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย อย่างไรก็ดี กรมประมงยังมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวไทยในแต่ละห้วงเวลานั้นสามารถทำให้เกิดกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัย

ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชาวประมงเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ และเกิดความสมดุลกับการประกอบอาชีพของพี่น้อง และได้เน้นย้ำการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ยึดหลัก 3 ป. คือ การป้องกัน การป้องปราม และการปราบปราม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ