พิษเศรษฐกิจโลกทุบดัชนีอุตสาหกรรมดิ่ง หวังปี 67 ฟื้น 2-3%

ศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู

พิษเศรษฐกิจโลกทุบดัชนีอุตสาหกรรมดิ่ง สศอ.คาดปี 66 หดตัว 4.8% หวังปี 67 ฟื้นขยายตัว 2-3%

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2566 สศอ.ได้ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2566 หดตัว 4.8% จากเดิมคาดไว้หดตัว 4-4.5% ผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะหดตัว 3% จากเดิมคาดไว้หดตัว 2.5-3% ส่วนประมาณการดัชนีเอ็มพีไอและจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2-3%

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทย กับประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐ ที่คาดว่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยาวนานและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้าง อีกทั้งต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากระดับราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง กดดันภาคการผลิตและกำลังซื้อผู้บริโภค และความผันผวนของค่าเงิน รวมทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญที่เป็นประเด็นให้ต้องติดตามในระยะต่อไป

สำหรับดัชนีเอ็มพีไอ เดือนต.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 89.38 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.29% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 56.83% ส่งผลให้ 10 เดือนของปี 2566 หดตัว 5.04% อัตราการใช้กำลังการผลิต 59.53% โดยเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าเป้า เนื่องจากนโยบายของประเทศจีนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และนโยบายจีนฟรีวีซ่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย

ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนต.ค.2566 ยังขยายตัวจากฐานต่ำของปีก่อน ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์การส่งออกต่อไปอย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงมีนโยบาย ช่วยลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น นโยบายลดค่าไฟฟ้าและตรึงราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น

ทั้งนี้ ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพ.ย.2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง” จากปัจจัยภายในประเทศที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน และดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทยปรับลดลง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย 3 เดือนข้างหน้า “ชะลอตัวในช่วงขาลง”

และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า ลดลงจากเดือนก่อน ตามความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น