เอเปคคาดเศรษฐกิจปีหน้าโตน้อยกว่าปีนี้ อีกสองปีถัดไป ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

เอเปค 2023
ป้ายประชาสัมพันธ์การประชุมเอเปค 2023 ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐ (ภาพโดย Loren Elliott / AFP)

เอเปค (APEC) เผยคาดการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ใช่ข่าวดี โดยคาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มเอเปคปีหน้าจะชะลอตัวลงเหลือโต 2.8% จากปีนี้โต 3.3% และอีกสองปีถัดไปจะโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า เมื่ออวันที่ 12 พฤศจิกายน 2023 ตามเวลา PST สหรัฐอเมริกาซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง หน่วยสนับสนุนนโยบาย (Policy Support Unit) ของสำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) ออกคาดการณ์เศรษฐกิจของความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (APEC) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราการเติบโตของกลุ่มเอเปค ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 21 ประเทศจะลดลงเหลือ 2.8% ในปี 2024 จาก 3.3% ในปี 2023

ส่วนในปี 2025 และ 2026 อัตราการเติบโตของจีดีพีของกลุ่มเอเปคโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.9% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งจะอยู่ที่ 3.2% และค่าเฉลี่ยของพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกไม่รวมเอเปคจะอยู่ที่ 3.5-3.6% ในสองปีดังกล่าว 

ความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญของกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Rim region) ทั้งอัตราเงินเฟ้อแบบยืดเยื้อบวกกับข้อจำกัดในการส่งออก สภาพอากาศที่ทำให้ราคาข้าวและสินค้าเกษตรหลายอย่างสูงขึ้น และการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานปุ๋ย และการควบคุมอัตราเงินเฟ้อซึ่งอาจต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจช้าลงอีก 

การเติบโตของการค้าสินค้าในกลุ่มเอเปคในแง่ปริมาณคาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า หลังจากที่ส่วนใหญ่ทรงตัวในปี 2023 นี้ โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% และการนำเข้าสินค้าจะเพิ่มขึ้น 3.5% แต่การเติบโตของทั้งการส่งออกและการนำเข้าคาดว่าจะสูงสุดที่ 4.4% ในปี 2025 แล้วลดลงเล็กน้อยในปี 2026 เนื่องจากการแตกแยกกระจายตัวทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อความสัมพันธ์ทางด้านอุปทานที่มีมาอย่างยาวนาน 

คาร์ลอส คุริยามะ (Carlos Kuriyama) ผู้อำนวยการหน่วยสนับสนุนนโยบายของเอเปคกล่าวว่า ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า จำเป็นที่สหรัฐและจีนที่จะต้องแก้ไขความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น หลังจากที่ทำสงครามภาษีและใช้ข้อจำกัดการส่งออกเพื่อเหตุผลด้านความมั่นคงกันมาหลายปี 

คุริยามะกล่าวว่า การควบคุมการส่งออกที่ขับเคลื่อนด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติและข้อจำกัดอื่น ๆ ระหว่างสหรัฐกับจีนกำลังผลักดันต้นทุนในห่วงโซ่อุปทานให้สูงขึ้น 

เขาบอกอีกว่า แม้ว่ารูปแบบการค้าระหว่างประเทศจะไม่สามารถคืนกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่การหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแยกตัวเพิ่มไปกว่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ (ที่ควรทำ) 

คุริยามะกล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การกลับมามีส่วนร่วมอีกครั้ง การลดความเสี่ยง และการหลีกเลี่ยงการแยกตัวออกจากกันของเศรษฐกิจสหรัฐและจีนมีความสำคัญเพียงใด “ผมคิดว่าความสัมพันธ์ที่มั่นคงของสหรัฐและจีนเป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”  

ทั้งนี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ของสหรัฐและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีน จะพบกันเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ในการประชุมที่มีเดิมพันสูงซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก