เปิดฉาก “เอเปค 2023” จากปฏิญญากรุงเทพฯ สู่ โกลเด้นเกต

apec supply

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือ APEC 2023 กำลังจะเริ่มขึ้นระหว่าง 11-17 พ.ย. 2566 นี้ ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

โดยช่วงแรกจะเป็นการประชุมรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีการต่างประเทศเอเปค ครั้งที่ 34 (AMM) ระหว่างวันที่ 14-15 พ.ย. 2566 ซึ่งฝ่ายไทยจะมี นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุม

พร้อมด้วย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะสรุปต่อผู้นำเอเปค ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 พ.ย. 2566 โดยมีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน นำคณะเข้าร่วม

ปีนี้สหรัฐตั้งเป้าหมายจะให้การรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ถ้อยแถลงรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี 2566 และ 2.ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ Golden Gate Declaration ซึ่งจะเป็นการสานต่อการทำงานและผลลัพธ์ของการประชุมเอเปคของไทยเมื่อปี 2565 ทั้งการขับเคลื่อนนโยบายทางการค้าที่ครอบคลุมและยั่งยืน การสนับสนุนระบบการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) และการค้ากับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“สหรัฐ” ชู 3 วาระเอเปก

หากยังจำได้ในการประชุม APEC 2022 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Open Connect Balance” ไฮไลต์สำคัญ คือ การประกาศเป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals on BCG Economy) ส่วนในปีนี้ สหรัฐเน้นเรื่อง Creating Resilience and Sustainable Future for All คือ สร้างสรรค์อนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน

“สหรัฐจะผลักดัน 3 ประเด็น คือ การสร้างภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยง (interconnected) การนำนวัตกรรมมาช่วยเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (innovative) และอนาคตที่จะเกิดขึ้นทุกคนต้องได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกัน (inclusive)”

ตาราง การค้าไทย-เอเปค

สานต่อ FTAAP

ในเรื่อง interconnected มุ่งการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ต่อจากที่ประเทศไทยได้จัดทำแผนงานไว้ในปีก่อน

ส่วนการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่มีนวัตกรรม ความยั่งยืนในอนาคต เช่น เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลและสภาพแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร และให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และสุดท้ายเรื่อง inclusive การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศและความเท่าเทียม และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียม

“ธีมของสหรัฐในปีนี้ตอบสนองความท้าทายของโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เรื่อง climate change เรื่องเงินเฟ้อ เรื่องดอกเบี้ย จะเป็นการรับไม้ต่อจากไทย ในเรื่อง FTAAP และ BCG ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาค ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับเปรู ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค ในปี 2567”

เปิดวาระหารือ AMM

ส่วนในการประชุม AMM ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้ย้ายไปรับตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่งไม้ต่อภารกิจนี้ให้กับ “น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล” รุ่นน้องที่เพิ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมนกล่าวว่า การประชุม AMM วันแรก จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเป็นประธาน ส่วนฝ่ายไทยจะมีรองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ วาระสำคัญจะเน้นหารือเรื่องการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่มีนวัตกรรมสำหรับความยั่งยืนในอนาคต และควรจะครอบคลุมเท่าเทียมสำหรับทุกคน

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ส่วนในวันที่ 2 ของ AMM จะมีผู้แทนการค้าสหรัฐเป็นประธาน ฝ่ายไทยจะมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และจะกล่าวถ้อยแถลง โดยมีผู้อำนวยการใหญ่ WTO เข้าร่วมประชุมด้วย

“AMM จะเน้นการสร้างภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยง ที่ส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สหรัฐตั้งคำถามให้สมาชิกกล่าวถ้อยแถลงใน 2 ประเด็น คือ

จะสามารถใช้ประสบการณ์และความสำเร็จ ในการประชุมรัฐมนตรีดับบลิวทีโอ ครั้งที่ 12 (MC12) มาผลักดันให้เกิดความสำเร็จในการประชุม MC ครั้งที่ 13 ที่จะจัดปี 2567 ได้อย่างไร เช่น เรื่องประมง และกฎเกณฑ์อีคอมเมิร์ซ และประเด็นที่สองเรื่องการปฏิรูป WTO โดยเฉพาะการปรับปรุงเรื่องกลไกระงับข้อพิพาทนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ”

หลังจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จะหารือทวิภาคีอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพื่อเตรียมจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาด้านการค้าและการลงทุน (JTC) ต่อไป

ฝ่าความท้าทาย Geopolitics

ประเด็นเรื่องความขัดแย้ง geopolitics เอเปคไม่ได้ยกขึ้นมาเป็นวาระพิจารณา แต่จะแทรกอยู่ในส่วนของแชลเลนจ์ของสมาชิกที่แต่ละประเทศอาจจะหยิบยกมาหารือ ในมุมของไทยจะมุ่งเน้นการพัฒนาและสานต่อสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่าในทุกปี รวมถึงปีนี้ จะมีตัวแทนชาติสมาชิกเข้าทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม

“สงครามอิสราเอลไม่น่าจะมีประเด็น เพราะสมาชิกเอเปคไม่ได้เป็นผู้ขัดแย้งโดยตรง ที่ผ่านมาคู่ขัดแย้งในเอเปคก็มีบ้างเหมือนกัน แต่ก็ยังสามารถผ่านมาได้ ทุกคนให้เกียรติกัน และให้เล่นบทบาทของตัวเอง และยิ่งสหรัฐเป็นเจ้าภาพจะยิ่งส่งเสริมภาพความสำเร็จของการประชุม”

สถานการณ์การค้า

น.ส.โชติมากล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ นายนภินทรจะกล่าวถ้อยแถลงของไทยในวาระการประชุมเรื่องการสร้างภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยง (interconnected) ประเด็นการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ เป็นการสานต่อการทำงานและผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยเมื่อปี 2565

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล
โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล

ในมิติการค้าประเทศไทย เอเปคเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย (กราฟิก) โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) การค้าระหว่างกัน 302,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2565 มีมูลค่า 406,798.34 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของทั้งหมด

ดังนั้น เอเปคไม่เพียงเป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนความเห็นที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ยังมีส่วนช่วยในการให้สมาชิกรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น มีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี ทั้งสาขาการค้า-การลงทุน เกษตร ประมง การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล การค้าเพื่อความยั่งยืน สภาพภูมิอากาศ การกำจัดขยะทางทะเล วิกฤตพลังงานและอาหาร ขับเคลื่อนแผนงานทั้งในส่วนภาครัฐ และภาคธุรกิจไปพร้อมกันด้วย