
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
ในระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายนนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ครั้งที่ 30 ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
โดยการประชุมผู้นำเอเปคในปีนี้จะอยู่ภายใต้หัวข้อ “สร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นสำหรับทุกคน” และแน่นอนว่าสหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าภาพการประชุมเตรียมที่จะแสดงบทบาทความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและพหุภาคีในอินโด-แปซิฟิก
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- หุ้นกู้ออกใหม่เดือน ธ.ค. บริษัทแห่ระดมทุน จูงใจจ่ายดอกเบี้ยสูง 7%
ผลลัพธ์ของการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคจะออกมาในรูปของเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเอเปค มีสาระสำคัญอยู่ที่การทบทวนการทำงานของเอเปคในปีที่ผ่านมา และให้แนวทางในการดำเนินการของเอเปคต่อไป กับปฏิญญาระดับผู้นำเอเปคที่จะเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ของเอเปค ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่เสรี การสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้า การใช้พลังงานสะอาด แรงงาน ดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม
โดยเอกสารสำคัญทั้ง 2 ฉบับนี้จะไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่เป็นสนธิสัญญา หรือหนังสือสัญญาที่ “บังคับใช้” เนื่องเพราะเอเปคเป็นเพียง “ความร่วมมือ” ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
และสร้างความรู้สึกในการมีส่วนร่วมเป็นประชาคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ 21 เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกของเอเปคในปัจจุบัน ดังนั้น การประชุมระดับผู้นำที่นครซานฟรานซิสโกในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องของพิธีกรรมที่กลั่นกรองมาจากการประชุมระดับเจ้าหน้าที่เอเปคแทบจะทั้งหมดแล้ว
ทว่าการประชุมเอเปคในแต่ละปีก็ยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมทวิภาคี ที่ผู้นำแต่ละประเทศจะใช้เวทีของเอเปคมาพบกัน แน่นอนว่าโลกกำลังจับตามองการพบกันระหว่างประธานาธิบดีไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุ
ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือสงครามอิสราเอล-ฮามาส จนอาจจะบดบังประเด็นของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่่ว่าเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตจะร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นสำหรับทุกคนได้อย่างไร
สำหรับภารกิจในการเข้าร่วมประชุมเอเปคของนายกรัฐมนตรีไทย นอกเหนือไปจากการผลักดันเพื่อให้เกิดการสานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งที่ผ่านมาแล้ว มาคราวนี้คณะผู้แทนฝ่ายไทยยังมีหัวข้อหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการพบปะกับภาคเอกชนสหรัฐ ในเรื่องของการค้าและการลงทุน ซึ่งจะเป็นเป้าหมายหลักสำหรับการไปร่วมประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้