จีน “ส่งออก” หดตัวเร็ว “นำเข้า” พลิกบวกเหนือคาด สะท้อนเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง 

ท่าเรือในเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู ประเทศจีน
ท่าเรือในเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู ประเทศจีน (ภาพโดย STRINGER / AFP) / China OUT

การส่งออกของจีนหดตัวลึกกว่าคาด ขณะที่การนำเข้าพลิกเป็น “บวก” ได้แบบหักปากกาเซียน ตัวเลขที่เป็นสัญญาณแบบขัดแย้งกันนี้สะท้อนเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกอย่างไรบ้าง  

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2023 หน่วยงานศุลกากรของประเทศจีนแถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของจีนประจำเดือนตุลาคม 2023 การส่งออกของจีนหดตัว 6.4% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2022 (YOY) แต่ฝั่งการนำเข้าพลิกเป็นบวก 3.0%

การส่งออกที่หดตัว 6.4% นั้นหดตัวเร็วกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในการสำรวจของรอยเตอร์คาดไว้ว่าจะหดตัว 6.2% แต่ฝั่งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 3.0% นั้นเป็นการเติบโตอย่างผิดคาด เพราะนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 4.8% และนี่เป็นการพลิก “บวก” ครั้งแรกหลังจากที่การนำเข้าของจีนหดตัวติดต่อกันมา 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ถึงเดือนกันยายน 2023 

ทั้งนี้ การนำเข้าที่สูงขึ้นทำให้การเกินดุลการค้าโดยรวมในเดือนตุลาคมลดลงเหลือ 56,530 ล้านดอลลาร์ จาก 77,710 ล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน โดยพลาดไปจากตัวเลขคาดการณ์ที่คาดว่าจะเกินดุล 82,000 ล้านดอลลาร์

ตัวเลขที่ไปคนละทิศแบบนี้ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็น mixed signals เป็นตัวเลขที่ส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจแบบผสมผสาน ยังไม่บ่งชี้ชัดว่าเศรษฐกิจจะไปทิศทางไหนแน่

สำหรับการส่งออกที่หดตัวนั้นบอกความหมายชัดเจนว่าอุปทานในตลาดโลกยังไม่ฟื้น ทำให้ความต้องการสินค้าจากจีนยังคงน้อยกว่าปีก่อนหน้า 

ส่วนฝั่ง “การนำเข้า” นอกจากสะท้อนว่าอุปสงค์ภายในประเทศจีนเริ่ม “ฟื้นตัวขึ้น” แล้วยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจโลกได้ด้วยในเวลาเดียวกัน เนื่องจากสินค้าส่วนหนึ่งที่จีนนำเข้านั้นเป็นวัสดุหรือวัตถุดิบที่นำไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ดังนั้น ตามหลักการแล้ว การที่จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นจึงอาจบ่งชี้ได้ว่าจีนนำเข้าสินค้ามากขึ้นเพื่อเตรียมการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มอีกว่าการส่งออกของจีนในอีกสักสองสามเดือนข้างหน้าน่าจะดีขึ้น และหากเป็นตามนั้น แปลว่าเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม ๆ กำลังจะดีขึ้น 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการนำเข้าเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ หรือเพื่อผลิตสินค้าส่งออกก็ต้องไปดูในรายละเอียด

ตัวอย่างสินค้าที่จีนนำเข้าเพิ่มขึ้น คือ น้ำมันดิบ นำเข้าเพิ่มขึ้น 13.52% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมของปีก่อนหน้า (YOY) คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอัตราการเติบโตของเดือนกันยายน และการนำเข้าถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 25% โดยการนำเข้าถั่วเหลืองราคาถูกจากบราซิลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โจว ห่าว (Zhou Hao) นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์ กั๋วไท่ ยูนนาน อินเตอร์เนชันแนล (Guotai Junan International) วิเคราะห์ว่า การนำเข้าที่ปรับปรุงดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนเป็นบวกนั้น อาจมาจากอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการเติมสินค้าคงคลังให้เพียงพอ ส่วนฝั่งตัวเลขส่งออกที่หดตัวสวนทางกับคาดการณ์ของตลาดอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาด 

สวี่ เทียนเฉิน (Xu Tianchen) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบริษัทวิจัย อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit: EIU) วิเคราะห์ว่า ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกกำลังฟื้นตัวขึ้น ยืนยันได้จากการส่งออกของเกาหลีใต้และเวียดนามที่ดีขึ้น ดังนั้น ตัวเลขการส่งออกของจีนที่ไม่ดีนั้นชี้ให้เห็นถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอในหมวดสินค้าอื่น ๆ เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาส และเสื้อผ้า 

ส่วนการพลิกเป็นบวกอย่างเหนือคาดของตัวเลข “การนำเข้า” นั้น สวี่ เทียนเฉิน มองว่า ดูเหมือนจะสะท้อนถึงอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแรงขึ้น มากกว่าที่ได้มาจากคำสั่งซื้อลอตใหญ่จากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในด้านการบริโภคภายในประเทศนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลจีนประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงิน 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 4.96 ล้านล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 8 พ.ย. 2023) ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศจีนได้ 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการสนับสนุนเชิงนโยบายล่าสุดของรัฐบาลจีนเพียงพอที่จะหนุนเสริมอุปสงค์ภายในประเทศหรือไม่ เนื่องจากทั้งวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ การว่างงาน และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อ่อนแอกำลังคุกคามการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจจีน

เมื่อพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ประกอบ ก็เน้นย้ำสัญญาณแบบ “ผสมผสาน” โดยด้านดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนตุลาคม ซึ่งสำนักงานสถิติของจีนเปิดเผยในวันที่ 8 พฤศจิกายน หดตัวลง 0.2% ดึงจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอีกครั้ง ขณะที่ฝั่งดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 แล้ว

ฝั่งกิจกรรมการผลิตของจีนก็หดตัวลงอย่างกะทันหันในเดือนตุลาคม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (CPI) ภาคการผลิตซึ่งสำรวจโดยไฉซิน (Caixin) ร่วมกับเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ที่เปิดเผยในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาพบว่า ค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนตุลาคม 2023 อยู่ที่ 49.5 จุด ลดลงจากเดือนกันยายนซึ่งอยู่ที่ 50.6 จุด กลับไปอยู่ระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นจุดตัดที่ชี้วัดภาวะการเติบโตหรือการหดตัวอีกครั้ง 

ขณะที่ PMI ของทางการจีน (โดยทั่วไปจะสูงกว่าที่เอกชนจัดทำ) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมก็แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการผลิตหดตัวลงอีกอย่างเหนือคาด

จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จีนของบริษัทวิจัย แคปิตัล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า มาตรวัดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศบ่งชี้ว่าอุปสงค์จากต่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าที่เคยพบเห็นในข้อมูลศุลกากร 

“เราคาดว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อย หรือการเติบโตของจีดีพีที่อ่อนแอในระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ” หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จีนของบริษัทวิจัย แคปิตัล อีโคโนมิกส์ กล่าว 

อ้างอิง : 

…………………