หลังจากพยายามเชื้อเชิญกันอยู่เป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม ตั้งแต่ประชุม “จี 20” ที่อินโดนีเซีย และประชุม “เอเปค” ที่ประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ในที่สุด เมื่อเข้าใกล้การประชุม “เอเปค 2023” ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายนนี้ ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำเนียบขาวก็ประกาศว่า สหรัฐได้บรรลุข้อตกลงในหลักการกับจีนแล้ว ในเรื่องการประชุมของผู้นำสหรัฐกับผู้นำจีนนอกรอบการประชุมเอเปค
ตามข่าวระบุว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนมีกำหนดพบปะนอกรอบกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน
หากไม่มีอะไรผิดพลาด นี่จะเป็นการพบเจอกันครั้งแรกในรอบปีของสองผู้นำชาติมหาอำนาจที่เป็น “คู่แข่ง” แห่งยุค ซึ่งเป็นอีเวนต์ที่ทั่วโลกพุ่งความสนใจ และความโดดเด่นของการประชุมนี้คงจะบดบังสิ่งอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในงาน
กว่าจะมาถึงวันที่ทางการสหรัฐประกาศว่ามีการบรรลุข้อตกลงนั้น สหรัฐพยายามอย่างหนักในการเชื้อเชิญผู้นำจีน มีการส่งนักการทูตระดับสูงและรัฐมนตรีหลายกระทรวงไปเยือนจีน นับตั้งแต่ต้นปี 2023 ไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีพาณิชย์ แต่ได้รับการต้อนรับจากจีนอย่าง “เย็นชา”
ฝั่งจีนตั้งเงื่อนไขว่าการพบปะของผู้นำจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสหรัฐแสดงออกถึงความจริงใจและความให้เกียรติต่อจีนอย่างมากพอ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการที่จะรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคี
จีนระบุลงรายละเอียดด้วยว่า สหรัฐต้องคำนึงถึง “ผลประโยชน์หลัก” (core interests) 4 ประการของจีน ซึ่งจีนเรียกว่าเป็น “เส้นสีแดง” ประกอบด้วย (1) เรื่องไต้หวัน (2) เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (3) เรื่องเส้นทางสู่การพัฒนาของจีน และระบบการเมืองและเศรษฐกิจ (4) เรื่องสิทธิในการพัฒนาของจีน
“ความเป็นไปได้” ที่ผู้นำจีนจะประชุมกับผู้นำสหรัฐปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้น เมื่อ “หวัง อี้” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เดินทางเยือนสหรัฐเมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งระหว่างการเยือนสหรัฐ หวัง อี้ ได้พบปะหารือกับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ และเจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว
การประชุมของสองผู้นำที่สหรัฐรอคอยมาเป็นปี แต่ละฝ่ายจะผลักดันเรื่องอะไรบ้าง
จากที่มีข้อมูลตามรายงานข่าวออกมา ณ เวลานี้ และจากการย้อนทบทวนประเด็นการหารือของจีนกับสหรัฐมาตั้งแต่ต้นปี พอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้
สหรัฐหวังจะได้รับความร่วมมือจากจีนด้วยการประกาศความมุ่งมั่นใหม่ในการยับยั้งการส่งยาเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐ และสหรัฐคาดหวังจะฟื้นฟูการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกองทัพของสองประเทศ ซึ่งตัดขาดไปจากเหตุที่ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐในขณะนั้นเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2022
ฝั่งจีนคาดหวังคำมั่นสัญญาจากประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐว่า ฝ่ายบริหารของเขาจะไม่แทรกแซงเรื่องเกาะไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลจีนอ้างสิทธิในการครอบครองภายใต้หลักการ “จีนเดียว”
ที่ผ่านมา ระหว่างประกาศนโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ที่แสดงถึงความไม่ลงรอยกัน แต่รัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลจีนก็ยืนยันบ่อยครั้งว่า ต้องการจัดการความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่าง “รับผิดชอบ” เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศและทั้งโลก และเพื่อรับประกันว่า “การแข่งขัน” ของจีนกับสหรัฐจะไม่นำไปสู่ “ความขัดแย้ง” คาดว่าเมสเสจทางการทูตเหล่านี้ก็ยังจะปรากฏออกมาให้เห็น
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จีนกับสหรัฐบรรลุข้อตกลง “แลกเปลี่ยนข้อมูล” เกี่ยวกับคำสั่งควบคุมการส่งออกของสหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่จีนกังวล และจะร่วมตั้งคณะทำงานชุดใหม่ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและตัวแทนเอกชนของทั้งสองประเทศขึ้นมาหารือกันในด้านการค้าและการลงทุน คาดว่าทางการจีนจะผลักดันการหารือเรื่องนี้ต่อด้วย
ทั้งสองประเทศเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาต้องการหารือถึงความเป็นไปได้สำหรับความร่วมมือเกี่ยวกับความท้าทายระดับโลก อย่างเช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น สหรัฐกับจีนมีจุดยืนที่ต่างกันในเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส น่าจับตามองเช่นกันว่าผู้นำทั้งสองชาติจะมีการพูดคุยถึง “จุดยืน” ของอีกฝ่ายในเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อการรักษาความสัมพันธ์หรือไม่
- สหรัฐยอมให้สองบริษัทเกาหลีใต้นำเข้าเครื่องมือผลิตชิปสำหรับโรงงานในจีนได้
- ธุรกิจสหรัฐแห่หนีจีนมาอาเซียน ผลสำรวจ “มุมมองเชิงบวก” ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
- จีน-สหรัฐตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลควบคุมการส่งออก ตั้งคณะทำงานหารือการค้า-การลงทุน
- สรุป 13 ข้อ “สี จิ้นผิง” คุยอะไรกับ “บลิงเคน” สหรัฐได้อะไรที่ต้องการหรือไม่ ?