ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เร่งรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปี’66

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ

เศรษฐกิจโลกซบเซากระทบดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เสนอ 3 ข้อเร่งรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปี 2566 หวังยาแรง “ดิจิทัลวอลเลต” กระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับตัวลดลง จาก 90.0 ในเดือนกันยายน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

นายเกรียงไกรกล่าวว่า เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนี พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐออกมาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง

เศรษฐกิจโลกกระทบหนัก

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,337 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนตุลาคม 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 85.7 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 70.1 และเศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 48.8 ตามลำดับ รวมถึงปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 52.7 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 41.2 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 40.5 ตามลำดับ

“สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่มีทีท่าว่าจะเลิก แล้วยังมีสงครามอิสราเอลและฮามาสเข้ามาอีก อาจทำให้กำลังซื้อในต่างประเทศที่เป็นกำลังหลักถดถอยทั้งในยุโรป ญี่ปุ่นและตะวันออกกลาง จึงต่องมาดูว่าปลายปีนี้กำลังการซื้อจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงการประกาศวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานเองก็กลับไม่แรงเท่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจจะเป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นปัญหาใหญ่และมีผลต่อจีดีพีของจีนถึง 30% ทำให้กดทับกำลังซื้อในจีน รวมถึงมาตรการของรัฐบาลจีนที่เน้นให้คนเที่ยวในประเทศกันมากขึ้น จึงทำให้ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯลดลง”

คาด 3 เดือนหน้าต้องกระตุ้น

ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 94.5 ปรับตัวลดลง จาก 97.3 ในเดือนกันยายนโดยมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาส หากยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกและกำลังการซื้อ รวมถึงความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกังวลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

3 ข้อเสนอกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย

1) เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 อาทิ นำโครงการ e-Refund มาเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชน

2) เร่งรัดการกำหนดมาตรการในการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้เสียจากโควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21 รวมทั้งออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและส่งเสริมให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น

3) ขอให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ปี 2567 หวังยาแรง “ดิจิทัลวอเลต”

นายเกรียงไกรกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าต้องการกระตุ้นขนานหนัก เพราะการออกงบประมาณการลงทุนของภาครัฐต้องล่าช้าไป 6-8 เดือนนั้นสร้างความกังวลให้กับภาคเอกชนเป็นอย่างมาก รวมถึงการเศรษฐกิจในประเทศเองก็ย่ำแย่ เพราะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเห็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการจัดการปรับลดหนี้ในระบบ

แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหนี้ที่น่ากังวล นั่นคือ หนี้นอกระบบที่มีมากเกือบ 20% ของหนี้ครัวเรือน โดยหนี้นอกระบบเป็นหนี้ที่มีลักษณะดอกโหดและต้องส่งทุกวัน ทำให้กำลังซื้อของประชาชนไม่พอใช้เพราะต้องเอาไปจ่ายหนี้หมด จึงอยากให้รัฐบาลหามาตรการดึงหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบให้ได้ โดยการแต่งตั้งคณะทำงานหรือกองทุนเพื่อจัดการปัญหาเรื่องนี้โดยตรง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโลกย่ำแย่

“ดังนั้นเพื่อให้เศรษฐกิจและกำลังการซื้อในประเทศของปี 2567 ฟื้นตัว การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินมหาศาลอย่าง ‘ดิจิทัลวอเลต’ ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยนั้น ภาคเอกชนมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น ทว่าในเรื่องของรายละเอียดและเทคนิคนั้นเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องหาคำตอบให้ได้”

ปัจจัยกระทบดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมตุลาคม 2566

สำหรับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2566 ที่ปรับตัวลดลง มีปัจจัยลบมาจากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมและภาคการผลิตชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าแฟชั่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้ายังทำได้จำกัด ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา แต่ในสินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินและทำให้ภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการและกระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ยุโรป ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง รวมถึงอานิสงส์มาตรการ “วีซ่าฟรี” ให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว