เศรษฐา ขึ้นเวทีผู้นำเอเปค ดึง 80 นักลงทุนทั่วโลกร่วมวงแลนด์บริดจ์

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

“เศรษฐา” นำทัพร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2023 ประกาศปฏิญญาโกลเด้นเกต “สร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นสำหรับผู้คน” ดีลนักลงทุน-นักธุรกิจสหรัฐ 80 คน ชูโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 มหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก เป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากช่องแคบมะละกา ต่อยอดให้ไทย “ฮับแวร์เฮาส์ภูมิภาค” ประชุมคู่ขนานเวทีเอเปคอาจมีข่าวดี ไทยเกาะขบวนเจรจา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF ขยายสัมพันธ์ 13 ประเทศ สร้างความแข็งแกร่งห่วงโซ่การผลิต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือ APEC 2023 ระหว่าง 11-17 พ.ย. 2566 นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปค ในวันที่ 16-17 พ.ย. 2566 ว่า

สหรัฐในฐานะเจ้าภาพการประชุมจะผลักดันการดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ การสร้างภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยง (interconnected), การนำนวัตกรรมมาช่วยเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (innovative) และอนาคตที่จะเกิดขึ้นทุกคนต้องได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกัน (inclusive)

โดยที่ประชุมจะมีการออกเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับด้วยกัน คือ ถ้อยแถลงรัฐมนตรีเอเปคประจำปี 2566 จัดเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับรัฐมนตรีมีสาระสำคัญเพื่อทบทวนการทำงานของ APEC และให้แนวทางสำหรับการดำเนินงานต่อไป กับปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

หรือ Golden Gate Declaration ที่จะเป็นการสานต่อการทำงานและผลลัพธ์ของการประชุมเอเปคของไทยเมื่อปี 2565 ทั้งการขับเคลื่อนนโยบายทางการค้าที่ครอบคลุมและยั่งยืน การสนับสนุนระบบการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) และการค้ากับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ชูแลนด์บริดจ์ปลุกลงทุน

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังนำภาคธุรกิจชั้นนำของไทยประมาณ 20 ราย เช่น CP อมตะ พร้อมด้วย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วม road show เพื่อดึงดูดการลงทุนคู่ขนานไปกับเวที APEC โดยจะเข้าร่วมงาน Networking Reception ณ โรงแรม Ritz Carlton ในวันที่ 14 พฤศจิกายน เพื่อพบกับตัวแทนภาคเอกชนสหรัฐ จำนวน 80 คน ในงานนี้ นายกรัฐมนตรีจะกล่าว speech เรื่องทิศทางเศรษฐกิจและแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพื่อดึงดูดการลงทุน

“นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสในการเดินทางเข้าร่วมประชุม APEC ครั้งนี้ เชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ (ท่าเรือน้ำลึกแหลมอ่าวอ่าง จ.ระนอง เชื่อมท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว ชุมพร ผ่านทางมอเตอร์เวย์-รถไฟ-ท่อส่งน้ำมันระยะทาง 90 กม.) ซึ่งเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นจะเกิดอุตสาหกรรมใหม่และจะขยายเป็นฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะภาคการเกษตร แต่จะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเกิดขึ้นด้วย จะช่วยยกระดับรายได้ประชาชนและเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

สำหรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นในการพบกับนักลงทุนในสหรัฐ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทุกครั้งที่เดินทางต่างประเทศเพื่อแจ้งความคืบหน้า และก็จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมถึงยังเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ตัดสินใจวางอนาคต แม้โครงการยังไม่เกิดขึ้นทันที ต้องใช้เวลานาน แต่ก็จะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเล็งเห็นโอกาส จากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และอาจจะตัดสินใจไม่ย้ายประเทศ” นายนฤตม์กล่าว

ส่วนข้อเสนอที่จะจูงใจนักลงทุนสหรัฐเลือกเข้ามาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของประเทศไทย จะมีทั้งมาตรการทางด้านภาษี พลังงานสะอาดที่รัฐบาลให้ความสำคัญ การบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรม การเป็นศูนย์กลางการบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง สำหรับโลจิสติกส์และแลนด์บริดจ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นปัจจัยสำคัญให้นักลงทุนตัดสินใจ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเข้าเยี่ยมชมโรงงานบริษัท Tesla ณ Tesla Fremont Factory และบริษัท HP ในกลุ่มคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและแล็ปทอป (PC & laptop)

ทั้งนี้ รายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ ในปี 2020 ระบุ สหรัฐมีการลงทุนโดยตรงในไทยเป็นมูลค่า 17,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต, ธุรกิจค้าส่ง, ผู้เชี่ยวชาญ/วิชาชีพ, วิทยาศาสตร์, บริการด้านเทคนิค ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2566) มีการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐผ่านโครงการส่งเสริมการลงทุนของ BOI จำนวน 21 โครงการ รวมมูลค่าทั้งหมด 23,979 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่สหรัฐมีมูลค่ำการลงทุนโดยตรงมากที่สุด ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร, อุตสาหกรรมการแพทย์, อุตสาหกรรมเครื่องจักรและเครื่องยนต์, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า, เคมีภัณฑ์และปิโตรเลียม

แต่หากพิจารณาคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2561-2566 จะมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนสหรัฐ จำนวน 198 โครงการ มูลค่า 131,588 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคือ เกษตรอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะประเภทกิจการ data center กับ cloud service และอุตสาหกรรมภาพยนตร์

แลนด์บริดจ์ลดต้นทุนขนสินค้า

สำหรับการกล่าว speech ของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่โรงแรม Ritz Carlton มีสาระสำคัญอยู่ที่การเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ โดยโครงการนี้เป็นโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงกลยุทธ์ที่จะเชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เชื่อมโยงผู้คนในภาคตะวันออกกับภาคตะวันตกเข้าด้วยกัน และขอให้ “ทุกคนสำรวจโอกาสในการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนโครงการประวัติศาสตร์โครงการนี้”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อมูลแก่นักลงทุนว่า การค้าทางทะเลระหว่างเอเชีย-ยุโรป เรือขนส่งทุกลำจะต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหลักของภูมิภาคสำหรับประเทศที่มีพรมแดนติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย คิดเป็น 1 ใน 4 ของการค้าโลก น้ำมันมากกว่า 70% ที่ส่งออกจากภูมิภาคตะวันออกกลางจะต้องขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา มีเรือผ่าน 90,000 ลำในแต่ละปี หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.35% ต่อไป ทำให้ช่องแคบมะละกากลายเป็น “คอขวด” เกิดการจราจรแออัด และคาดว่าภายในปี 2573 จะเกินความจุของช่องแคบที่จะรองรับได้

ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์ของประเทศไทย จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ “จัดเป็นเส้นทางเพิ่มเติมที่สำคัญ” เป็นทางเลือกที่สำคัญในการแก้ปัญหาความแออัดในช่องแคบมะละกา ที่ “ถูกกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า” โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็น เรือตู้สินค้าจากจีนและยุโรป

โดยเรือแม่จะได้รับการส่งต่อโดยเรือตู้สินค้า จะช่วยประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 4% และดำเนินการได้ในเวลา 5 วัน สินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังเอเชียกลางและตะวันออกกลางโดยใช้เรือตู้สินค้า ทำให้ประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 4% ประหยัดเวลาได้ 3 วัน

“สินค้าจากไทย สปป.ลาว กันพูชา จีนตอนใต้ ไปจนถึงสินค้าจากกลุ่ม BIMSTEC และประเทศในทวีปยุโรป สามารถกระจายได้โดยใช้เรือตู้สินค้าที่แลนด์บริดจ์ ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ผมกล่าวโดยสรุป สินค้าที่่ผ่านแลนด์บริดจ์จะช่วยลดการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนโดยเฉลี่ยได้ 15%

สำหรับน้ำมันดิบที่ผลิตจากตะวันออกกลางเพื่อการขนส่งอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรล/วัน โดยมี 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรล/วัน ที่ผ่านช่องแคบมะละกา ในจำนวนนี้ 44% ไปยังเอเชียตะวันออกไกล ส่วนที่เหลือ 7% ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 6%” นายกรัฐมนตรีไทยกล่าว

ดันไทยฮับแวร์เฮาส์ภูมิภาค

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในระหว่างการประชุม APEC ว่า นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้ใช้โอกาสในการเดินทางเข้าร่วมประชุม APEC เชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะช่วยประสานและให้ข้อมูลกับภาคเอกชน หากโครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จจะไม่ใช่เพียงการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่จะทำอย่างไรที่จะให้โครงการช่วยสร้างโอกาสให้ไทยเป็น ศูนย์กลางคลังสินค้า (แวร์เฮาส์) ระดับภูมิภาคเอเชีย หรืออาเซียน

“เราต้องประสานกับเอกชนเพื่อวางแนวทางการศึกษาในขั้นต่อไปว่า ทำอย่างไรให้ไทยเป็น ศูนย์กลางแวร์เฮาส์อาเซียน ในเอเชีย เพื่อกระจายสินค้าสู่ภูมิภาค แทนที่จะเป็นทางผ่านในการขนส่งสินค้าเท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะใช้โอกาสนี้ในการศึกษาในจุดที่ยังขาดอยู่ให้ครบถ้วน”

ความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก

ด้านการหารือในเวที APEC ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า ที่ประชุม APEC ครั้งนี้ได้จัดให้มีการประชุม กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) ประชุมคู่ขนานไปพร้อมกัน โดยฝ่ายไทยมีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มี นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมในคณะเจรจา

“ไทยมีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือ IPEF ตอนนี้มีความเห็นว่า จะเข้าร่วม แต่ยังต้องสอบถามหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องว่ามีความเห็นอย่างไร ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อไป” นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

สำหรับ IPEF มีสหรัฐเป็นแกนนำ เริ่มในเดือนตุลาคม 2021 ร่วมกับสมาชิกอีก 13 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, บรูไน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และฟิจิ โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะประกาศความสำเร็จของ IPEF ว่า สร้างผลลัพธ์ที่มีความหมายแก่ผู้นำของประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก โดยพยายามเสนอทางเลือกที่นำโดยสหรัฐ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น