เศรษฐา โชว์โครงการแลนด์บริดจ์ ชูมาตรการภาษี ดึงลงทุนครั้งประวัติศาสตร์

เศรษฐา ทวีสิน-ประชุมเอเปก-แลนด์บริดจ์

นายกฯเศรษฐา โชว์โครงการแลนด์บริดจ์ ชู จุดขาย ลดเวลา ถูกกว่า เร็วกว่า ปลอดภัยกว่า ขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา เล็งมาตรการภาษีดึงดูดนักลงทุนครั้งประวัติศาสตร์

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ผูัสื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ รร.เดอะริทซ์ คาร์ลตัน ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวเปิดงานสัมมนาโครงการ “Thailand Landbridge Roadshow” มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ร่วมงาน

นายเศรษฐากล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมขนส่ง เป็นโอกาสการลงทุนที่ดีสำหรับภาคเอกชน ที่ทั่วโลกมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 38 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดประมาณ 40% รองลงมาคือยุโรปที่ประมาณ 38%

ซึ่งสำหรับการค้าทางทะเลระหว่างเอเชียและยุโรป เรือขนส่ง ทุกลำจะต้องผ่านช่องแคบมะละกา ที่เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหลักระดับภูมิภาค สำหรับประเทศที่มีพรมแดนติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย และ 1 ใน 4 ของการค้าโลก และน้ำมันมากกว่า 70% ที่ส่งออกจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา มีเรือผ่าน 9 หมื่นลำในแต่ละปี และเพิ่มเฉลี่ย 2.35% ต่อปี ทำให้กลายเป็นคอขวด เกิดจราจรแออัด และคาดว่าจะเกินความจุของช่องแคบมะละกาภายในปี 2573

หากมีความแออัดมากขึ้น อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งเวลาการขนส่งและต้นทุนที่มากขึ้น เรือต้องรอหลายวันทำให้ต้องเสียค่าเสียโอกาส และต้นทุนสินค้าเน่าเสีย เมื่อเกิดความล่าช้า

ชูไทยศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์

นายเศรษฐากล่าวว่า ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลิตและการขนส่ง เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก จะเป็นเส้นทางเพิ่มเติมที่สำคัญ เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่ง และเป็นทางเลือกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาช่องแคบมะละกา ที่ถูกกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา

โดยกลุ่มเป้าหมายคือเรือตู้สินค้าจากประเทศจีนและประเทศในยุโรป โดยเรือแม่จะได้รับการส่งต่อโดยเรือตู้สินค้าในพื้นที่นี้ ช่วยประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 4% และดำเนินการได้เวลา 5 วัน สินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังเอเชียกลาง และตะวันออกกลางโดยใช้เรือตู้สินค้า ทำให้ประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 4% ประหยัดเวลาได้ 3 วัน

และผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ ไปจนถึง BIMSTEC และประเทศในทวีปยุโรป สามารถกระจายได้โดยใช้เรือตู้สินค้าที่แลนด์บริดจ์ ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้ โดยสรุปการขนส่งสินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนโดยเฉลี่ยได้ 15%

ปริมาณสินค้าทั้งหมดที่ท่าเรือฝั่งตะวันตกจะอยู่ที่ 19.4 ล้าน TEUs และท่าเรือฝั่งตะวันออกนั้นจะอยู่ที่ 13.8 ล้าน TEUs คิดเป็นประมาณ 23% ของการขนส่งสินค้าทั้งหมดของท่าเรือมะละกา ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการพาณิชย์ และในฐานะจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างตะวันออกและตะวันตก ภูมิภาคนี้จะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญเช่นกัน

นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากตะวันออกกลางเพื่อการขนส่งอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมี 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวันที่ผ่านช่องแคบมะละกา และ 44% ไปยังเอเชียตะวันออกไกล และที่เหลือ 7% ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการนี้จะช่วยประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 6% นักลงทุนยังรับประโยชน์จากการพัฒนาผ่านโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ และการธนาคาร ในภาคการผลิตขั้นปฐมภูมิ ผ่านผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น และในภาคอุตสาหกรรม ผ่านทางอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curves) และการผลิต

ลงทุนใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์

โครงการ Landbridge จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม สร้างงาน 280,000 ตำแหน่ง และคาดว่า GDP ของไทยจะเติบโต 5.5% ต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 670,000 ล้านดอลลาร์เมื่อดำเนินโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

นายกฯเชื่อมั่นว่า โครงการ Landbridge เป็นโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนในโครงการสำคัญเชิงพาณิชย์และเชิงกลยุทธ์ ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยเชื่อมโยงผู้คนในภาคตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยนายกฯได้กล่าวเชิญชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนให้สำรวจโอกาสในการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในโครงการประวัติศาสตร์นี้ และได้รับประโยชน์ร่วมกัน

จากนั้นเวลา 18.00 น. นายกฯเป็นประธานงานสัมมนา Networking Reception โดยมีผู้แทนภาคเอกชนไทยจาก 16 บริษัท คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และบริษัทสหรัฐจากกว่า 9 สาขา อาทิ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ การเงิน แลไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น เข้าร่วมด้วย

นายกฯกล่าวว่า ประเทศไทยเปิดกว้าง และพร้อมเปิดรับภาคธุรกิจ การเดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปคในครั้งนี้ จึงได้นำภาคเอกชนชั้นนำของไทยที่ต้องการพบปะกับภาคเอกชนสหรัฐ มาร่วมด้วยเพื่อได้มีโอกาสพบกับนักธุรกิจสหรัฐ และเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมต่อเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ไทยและสหรัฐเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดมาอย่างยาวนานในหลายระดับและหลายมิติ

ทั้งความสัมพันธ์ทางการทูต เศรษฐกิจ และการลงทุน โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การค้าทวิภาคีมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของไทย ขณะที่ด้านการลงทุน จากข้อมูลของ BOI แสดงให้เห็นว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา สหรัฐเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสามของไทย ด้วยเงินลงทุนรวม 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อต้นปีนี้

ไทยได้รับคณะผู้แทนจาก Trade Winds ซึ่งเป็นภารกิจการค้าที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งมีบริษัทในสหรัฐมากกว่า 100 แห่งที่เป็นตัวแทนของ 20 ภาคส่วน สถิติเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่แข็งแกร่งระหว่างสองประเทศ

นายกฯกล่าวย้ำว่า ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุนและมีศักยภาพการเติบโตสูงมากในเอเชีย ด้วยแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจมหภาคที่ดี เสถียรภาพทางการเมือง การบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ และสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการลงทุน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสำคัญ ศักยภาพ และโอกาสสำหรับภาคเอกชนสหรัฐ ดังนี้

ด้านการลงทุนที่จะผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่มีนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และครอบคลุม ซึ่งใน 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมุ่งส่งเสริมการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.BCG 2.อุตสาหกรรมยานยนต์ 3.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ 5.สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค ซึ่งนายกฯเชื่อมั่นว่า เป้าหมายเหล่านี้จะสร้างโอกาสให้นักลงทุนสหรัฐ ในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและบริการสำหรับการดำเนินธุรกิจในเอเชีย และทั่วโลก

นอกจากนั้น รัฐบาลมุ่งมั่นสร้างการเติบโตสีเขียวและยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 ซึ่งความพยายามดังกล่าวสอดคล้องกับปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ผู้นำเอเปคได้รับรองเมื่อปี 2022 กับธีมการประชุมเอเปคของสหรัฐในปีนี้ “การสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน” (Creating a Resilient and Sustainable Future for All)

ฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ จุดแข็งของไทยคือการเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ในอาเซียน และใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก ซึ่งจากพื้นฐานที่มั่นคงนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยเป้าหมาย the 30@30 เพื่อผลิตรถยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicles : ZEVs) อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการ EV แห่งชาติได้อนุมัติมาตรการส่งเสริม EV 3.5 (ปี 2024-2027) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรม EV ทั้งระบบ

ทั้งนี้ นโยบาย EV ของไทยดึงดูดการลงทุนเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบและสถานีชาร์จ ไทยเป็นประเทศที่ใช้รถ EV สูงที่สุดในอาเซียน โดยมีจำนวน BEV ที่จดทะเบียนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่ประมาณ 68,000 คัน

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญของห่วงโซ่อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยืดหยุ่น เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จึงเป็นเหตุผลให้ไทยยังคงรักษาสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เอื้ออำนวยและปราศจากความเสี่ยง พร้อมด้วยอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี และแรงงานที่มีทักษะสูง

รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความสามารถทางดิจิทัล นอกจากนี้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้ 10,000 บาท (285 ดอลลาร์) โครงการ Digital Wallet จะวางรากฐาน สําหรับระบบการชําระเงิน blockchain ทั่วประเทศและเปิดโอกาสรับการลงทุนจากต่างประเทศใน FinTech

ประเทศไทยได้จัดตั้ง HQ Biz Portal เป็นศูนย์บริการครบวงจร One-stop-service เพื่ออำนวยความสะดวก ดูแลการทำงานให้บริษัทที่ต้องการจัดตั้งสํานักงานใหญ่ประจําภูมิภาคในประเทศไทย รวมทั้งรัฐบาลได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ Mega Projects ปรับปรุงความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนของเราไปสู่เศรษฐกิจใหม่และเพื่อให้มั่นใจถึงความยืดหยุ่นทางธุรกิจ

“สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยให้ตระหนักถึงวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งการพาณิชย์และโลจิสติกส์ และเพิ่มความสะดวกในการทําธุรกิจในประเทศไทย วีซ่าพํานักระยะยาว อํานวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติพักอาศัยและทํางานได้สะดวกยิ่งขึ้น”