เหมืองแร่โพแทชอุดรฯ พร้อมผลิตใน 3 ปี ขายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ราคาถูกกว่า 15%

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เหมืองแร่โพแทช อุดรธานี

“พิมพ์ภัทรา” เร่งโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ให้พร้อมผลิตปุ๋ยสูตรได้ปุ๋ยสูตร 0-0-60 มั่นใจขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด 15% และยังสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่มหาศาล ด้าน “เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น” ผู้รับประทานบัตร เข้าพื้นที่เตรียมการพัฒนาพื้นที่ทำเหมืองแล้ว ตั้งเป้าผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี

วันที่ 4 ธันวาคม 2566 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าตรวจเยี่ยมและ รับฟังการบรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี จากบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งเป็นผู้ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2565

โดยระบุว่าว่า เบื้องต้นบริษัทได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการ (Project Finance) ซึ่งหากสถาบันการเงินให้การอนุมัติ ทางบริษัทก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี โดยจะมีปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดรวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป็นปุ๋ยโพแทชได้ประมาณ 34 ล้านตัน

ส่วนกรณีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่กังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางดิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่นั้น

ได้สั่งกำชับให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับบริษัทชี้แจงและจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ร่วมกำกับดูแลการทำเหมืองของบริษัท เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเช่นกัน

ทั้งนี้ กพร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการ ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้หลายประการ เช่น การติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่นในบริเวณก่อสร้างอุโมงค์และเครื่องจักร การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง เป็นต้น

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน สรุปได้คือ ในส่วนของภาครัฐจะได้ค่าภาคหลวงแร่ 7% คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา

ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่โครงการ ก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุนต่าง ๆ อีก 6 กองทุน รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท

นอกจากนี้ บริษัทจะจัดสรรจำหน่ายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่น้อยกว่า 15% เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี