เปิด 10 ธุรกิจต่างชาติสนใจลงทุนในไทย “รับจ้างผลิตมากสุด”

ต่างชาติลงทุน
Photo : Pixabay

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิด 10 ประเภทธุรกิจ ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในประเทศไทย พร้อมเผยปัจจัยเศรษฐกิจปี 2567 และกระแสนิยม คาดนักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้านบาท

วันที่ 27 มกราคม 2567 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจไทยรวมถึงทั่วโลกจะประสบปัญหาจากภูมิรัฐศาสตร์ สภาพแวดล้อม กฎข้อระเบียบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ในปี 2566 การลงทุนประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มีจำนวน 667 ราย เงินลงทุนรวม 127,532 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 6,845 คน โดยจะมีประเภทธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ซึ่งเป็นที่นิยมที่นักลงทุนเข้ามามากที่สุด ได้แก่

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

10 ประเภทธุรกิจต่างชาติสนใจ

  • อันดับที่ 1 บริการรับจ้างผลิต จำนวน 136 ราย (20.4%) ทุน 42,644 ล้านบาท (33.4%)
  • อันดับที่ 2 บริการด้านคอมพิวเตอร์ จำนวน 68 ราย (10.2%) ทุน 1,434 ล้านบาท (1.1%)
    (ให้ใช้สิทธิ์โปรแกรม แอปพลิเคชัน/พัฒนาซอฟต์แวร์ / e-Commerce)
  • อันดับที่ 3 บริการให้คำปรึกษา จำนวน 62 ราย (9.3%) ทุน 7,803 ล้านบาท (6.1%)
    แนะนำ และบริหารจัดการ
  • อันดับที่ 4 ค้าส่งสินค้า จำนวน 58 ราย (8.7%) ทุน 7,873 ล้านบาท (6.2%)
  • อันดับที่ 5 บริการทางวิศวกรรม จำนวน 46 ราย (6.9%) ทุน 2,756 ล้านบาท (2.2%)
  • อันดับที่ 6 บริการให้เช่า จำนวน 45 ราย (6.8%) ทุน 16,096 ล้านบาท (12.6%)
    (สินค้า/ที่ดิน/อาคาร)
  • อันดับที่ 7 ค้าปลีกสินค้า จำนวน 41 ราย (6.2%) ทุน 1,635 ล้านบาท (1.3%)
  • อันดับที่ 8 บริการทางการเงิน จำนวน 23 ราย (3.5%) ทุน 6,805 ล้านบาท (5.3%)
    (สินเชื่อ/ให้กู้/รับค้ำประกันหนี้)
  • อันดับที่ 9 คู่สัญญาเอกชน จำนวน 22 ราย (3.3%) ทุน 689 ล้านบาท (0.5%)
    (ขุดเจาะปิโตรเลียม/ก่อสร้างโครงการ)
  • อันดับที่ 10 นายหน้า จำนวน 20 ราย (3.0%) ทุน 1,697 ล้านบาท (1.3%)

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 84 ราย (14%) (ปี 2566 อนุญาต 667 ราย / ปี 2565 อนุญาต 583 ราย) แม้มูลค่าการลงทุนจะลดลง 1,242 ล้านบาท (1%) (ปี 2566 ลงทุน 127,532 ล้านบาท / ปี 2565 ลงทุน 128,774 ล้านบาท) แต่มีการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 1,592 ราย (30%) (ปี 2566 จ้างงาน 6,845 คน / ปี 2565 จ้างงาน 5,253 คน)

10 ประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย

  • อันดับ 1 ญี่ปุ่น มีนักลงทุนจำนวน 137 ราย (20.5 %) เงินลงทุนรวม 32,148 ล้านบาท (25.2%)
  • อันดับที่ 2 สิงคโปร์ นักลงทุน 102 ราย (15.3%) ทุน 25,405 ล้านบาท (19.9%)
  • อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา นักลงทุน 101 ราย (15.1%) ทุน 4,291 ล้านบาท (3.4%)
  • อันดับที่ 4 จีน นักลงทุน 59 ราย (8.9%) ทุน 16,059 ล้านบาท (12.6%)
  • อันดับที่ 5 ฮ่องกง นักลงทุน 34 ราย (5.1%) ทุน 17,325 ล้านบาท (13.6%)
  • อันดับที่ 6 เยอรมนี นักลงทุน 26 ราย (3.9%) ทุน 6,087 ล้านบาท (4.8%)
  • อันดับที่ 7 สวิตเซอร์แลนด์ นักลงทุน 23 ราย (3.5%) ทุน 2,960 ล้านบาท (2.3%)
  • อันดับที่ 8 เนเธอร์แลนด์ นักลงทุน 20 ราย (3.0%) ทุน 911 ล้านบาท (0.7%)
  • อันดับที่ 9 สหราชอาณาจักร นักลงทุน 19 ราย (2.9%) ทุน 433 ล้านบาท (0.3%)
  • อันดับที่ 10 ไต้หวัน นักลงทุน 18 ราย (2.7%) ทุน 1,125 ล้านบาท (0.9%)

ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2567

นอกจากนี้ กรมมองภาพรวมธุรกิจในปี 2567 คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้คาดการณ์ไว้ที่ 2.7-3.7% และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 2.7% สอดคล้องกับกระทรวงการคลังที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.2% ต่อปี จากปัจจัยสนับสนุนของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งมาตรการภาครัฐด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการบริโภคของภาคเอกชน เช่น โครงการ อี-รีฟันด์ (e-Refund) มาตรการลดหย่อนภาษี (Easy E-receipt) มาตรการแก้หนี้นอกระบบ และนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ที่จะช่วยสร้างกระแสหรือความนิยมและมูลค่าเพิ่มให้กับเรื่องต่างๆ เป็นต้น

สำหรับปัจจัยลบหรือความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในปี 2567 ที่ควรจับตามอง ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจส่งผลต่อการค้าและการลงทุนโลก ความผันผวนของตลาดการเงินโลก สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ

เช่น จีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย รวมทั้ง ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลต่อสถานการณ์แล้งและต้นทุนราคาอาหาร นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาระหนี้สินต่อครัวเรือนที่สูง ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในปี 2567 ได้

กระแสความนิยม 2567

ปี 2567 มีกระแสความนิยมหรือเทรนด์ (Trend) ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่

1.เทรนด์สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าและบริการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สามารถตอบสนองความสะดวกสบายให้กับผู้คนในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตแทบทุกด้าน เห็นได้จากสินค้าและบริการเหล่านี้มีอยู่ในเกือบทุกบ้าน ซึ่งการผลิตสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ยังคงเป็นที่สนใจของผู้บริโภคอยู่เสมอ

2.เทรนด์การใส่ใจสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้งานซ้ำ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น การที่ผู้ดำเนินธุรกิจให้ความใส่ใจในกระบวนการดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่สร้างความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ

3.เทรนด์สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันธุรกิจไม่อาจมองข้ามกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ และขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และมีอิทธิพลต่อคนในครอบครัว หากธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของสินค้าและบริการกลุ่มนี้ได้ จึงถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจในการขยายกลุ่มลูกค้าและเพิ่มสัดส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจได้

อย่างไรก็ดี จากปัจจัยนี้ คาดว่าจะมีนักลงทุนชาวต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.3-1.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10%