“กฤษฎา” พบสื่อมวลชนโชว์แผน “การตลาดนำการผลิต” เชื่อมั่นสามารถสร้างสมดุล ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ฟุ้งปีแรกเชื่อมโยงสหกรณ์-เอกชนได้กว่า 600 แห่ง ทำยอดขายหลายพันล้านบาท
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนร่วมพูดคุยและซักถาม ภายในงาน Meet The Press กับประเด็น “ปฏิรูปภาคการเกษตร” ว่า แผนในปี 2561 โดยได้กำหนดเป็นนโยบายการตลาดนำการผลิต
เป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ ในการวางแผนการผลิตให้อุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน โดยสนับสนุนให้เกษตรกรดำเนินการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสหกรณ์การเกษตร และผู้ค้า
ส่งผลให้สามารถสร้างความเชื่อมโยงกับสหกรณ์ได้ 518 แห่ง กับภาคเอกชน 109 แห่ง ห้างโมเดิร์นเทรด 30 แห่ง และส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกกว่า 28 ประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่าหลายพันล้านบาท
พร้อมกันนี้ได้มีการดำเนินงานโครงการสำคัญกว่า 15 โครงการ อาทิ 1. ระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่แปลงใหญ่ทั้ง 3.72 ล้านไร่ รวม 3,029 แปลง แบ่งเป็น พืช 2,786 แปลง ปศุสัตว์ 164 แปลง ประมง 52 แปลง แมลงเศรษฐกิจ 26 แปลง และอื่นๆ (นาเกลือ) 1 แปลง เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 277,127 ราย ผลิตสินค้า 74 ชนิด เกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าผลผลิตรวม 6,075 ล้านบาท โดยมีการวางแผนการผลิตและการตลาดครบวงจรร่วมกับจังหวัด แบบกลไกประชารัฐ 2. เกษตรอินทรีย์ ด้วยการสนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ 120,000 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 36,149 ราย พื้นที่ 126,870 ไร่ ต้นทุนลดลง 169 บาทต่อไร่ ขายข้าวอินทรีย์ได้ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป ตันละ 2,000 – 8,000 บาท 3. ตลาดสินค้าเกษตร มีการจัดตลาดสินค้าเกษตรที่ตลาด อ.ต.ก. และ มินิ อ.ต.ก. ใน 38 จังหวัด มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท เป็นต้น
ด้านการดำเนินงานที่สนับสนุนนโยบายไทยนิยม ยั่งยืน กระทรวงเกษตรได้ดำเนินการ 2 แผนงาน 22 โครงการ ประกอบด้วย 1. แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาศักยภาพการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีเป้าหมายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตร 1.96 ล้านราย ให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และผลิตภาพภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 69,000 ล้านบาท โดยดำเนินการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของการผลิตภาคการเกษตร ซึ่งผลจากการดำเนินการตามแผนงานจะทำให้ สถาบันเกษตรกรได้รับประโยชน์ 344 กลุ่ม/สหกรณ์ และ 9,101 ชุมชน สามารถสร้างแหล่งน้ำ/ฝาย 2,937 แห่ง เกษตรกรได้รับประโยชน์891,396 ราย มีพื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ จำนวนกว่า 2 ล้านไร่
นอกจากนี้ ยังมีการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพให้เกษตรกรอีก 1.9 ล้านราย 2. แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับสวัสดิการ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงาน ส่งผลให้มีการจ้างงานเกษตรกร 7,520 ราย และเกษตรกรได้รับการอบรมสร้างทักษะอาชีพอีกกว่า 4 แสนราย
ขณะเดียวกัน คณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ (D6) ซึ่งเป็นกลไกร่วมระหว่างภาครัฐกับเอกชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ (บจก.น้ำตาลมิตรผล) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน โดยภาครัฐมีบทบาทสนับสนุนอำนวยความสะดวกตามภารกิจพื้นฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนภาคเอกชนมีบทบาทในการจัดหาตลาดและเพิ่มช่องทางการตลาดมากขึ้น มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน 2 ส่วน คือ 1. โครงการแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ภาคเอกชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง และกรมปศุสัตว์) ปัจจุบันแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ จำนวน 85 แปลง พื้นที่ 159,114 ไร่ สร้างมูลค่ารวม 631.50 ล้านบาท/ปี และ 2. การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมาพัฒนา Application เพื่อการเกษตร คณะกรรมการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่แบบดิจิทัลได้ออกแบบ Application for Smart Farmer 2 ส่วน คือ ด้านการให้ข่าวสารและความรู้แก่เกษตรกร และด้านการเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
“กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนการดำเนินงานและทิศทางในการขับเคลื่อนในระยะต่อไป 3 แผนงาน คือ แผนงาน 1. การขยายผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ให้มีความเชื่อมโยงกับการตลาดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเชื่อมโยงกับโครงการ BOI ที่จะส่งเสริม SME ภาคเกษตร ที่เป็น Agri-Solution Provider รวมทั้งการขยายเครือข่ายภาคเอกชนรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ แผนงาน 2 : พัฒนาอาชีพและยกระดับเป็นแปลงใหญ่ ในการจัดที่ดินทำกินแปลงรวมที่ได้ผ่านคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีแผนในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย (ผ่านอนุฯ 3) และ แผนงาน 3 : การพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.) มีแผนงานในการพัฒนา ศพก. ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ผ่านระบบ IT เพื่อพัฒนาเกษตรกรเป็น Smart Farmer” นายกฤษฎากล่าว